Last updated: 23 ธ.ค. 2554 | 16899 จำนวนผู้เข้าชม |
คัดลอกจาก http://www.thaidfl.com/story/00001.html
ที่โรงแรมเอราวัณนั้น มีศาลท่านท้าวมหาพรหม ที่เป็นที่รู้จักกันดี ลองมาทำความรู้จักกับ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ผู้ติดต่อและอัญเชิญ
เมื่อทางรัฐบาลมีความเห็นว่า โรงแรมเอราวัณอันเป็นโรงแรมที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยสมัย ๒๐ กว่าปีมานี้เล็กเกินไป ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพียงพอ จึงสั่งการรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นโรงแรมใหม่นั้น ประชาชนคนไทยส่วนมากที่เคยไปสักการะท่านท้าวมหาพรหม ที่มุมโรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ต่างพากันใจหายใจคว่ำ เกรงว่าทางราชการจะรื้อศาลที่ท่านท้าวมหาพรหมสถิตอยู่ แต่ทุกวันนี้ศาลดังกล่าวก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมเพราะไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง แม้โรงแรมเอราวัณจะถูกทุบทิ้งไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ด้วยผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านทราบดีถึงประวัติความเป็นมาของศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้จึงจะขอนำมาเล่าในวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง วิญญาณของเทพเบื้องบนนั้นมีจริง ผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงเท่านั้นจึงจะสามารถติดต่อได้
และท่านผู้นั้นก็คือ ท่านอาจารย์ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กรมแพทย์ทหารเรือ ผู้เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้ญาณพิเศษ ที่เรียกว่าพุทธญาณบารมี อันได้แก่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และมีอำนาจจิตอันเป็นที่ยอมรับนับถือจากประชาชนคนทั่วไป ตลอดจนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายมาช้านานตราบท่านถึงแก่อนิจกรรม
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า เนื่องจากในสมัยเริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณใหม่ ๆ นั้น มีอุปสรรคมากมายอย่างไม่คาดฝัน อาทิ การสั่งซื้อสิ่งของและอุปกรณ์มาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะผิดขนาดและผิดความต้องการของฝ่ายช่างเสมอ ทั้งคนงานก็กระทำผิดวัตถุประสงค์ ต้องแก้ไขทำใหม่ เป็นเหตุให้เสียเวลาอยู่เป็นนิจ
ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าช่างปูน ช่างเหล็ก มักจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่เลือดตกยางออก อันเป็นสาเหตุให้คนงานเสียขวัญไปตาม ๆ กัน จึงทำให้ผลงานล่าช้ายิ่งขึ้นจนถึงจะทำให้การก่อสร้างโรงแรมเอราวัณหยุดชะงักได้
เมื่อความทราบถึง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณ ในสมัยนั้นว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด ท่านจึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อปรึกษาหารือถึงวิธีแก้ไขความล่าช้าในการก่อสร้างโรงแรม ซึ่งได้มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้แนะนำให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่านอาจารย์ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ เป็นการด่วน ด้วยเหตุว่า ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เป็นผู้ที่สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ที่มิชอบด้วยประการทั้งปวง และมีความสามารถในทางมหัศจรรย์ที่คนธรรมดาสามัญไม่สามารถจะรู้เท่าทันท่านได้
พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ฟังคำแนะนำเช่นนั้น ประกอบกับเคยได้ยินกิตติศัพท์ของท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาแล้วจึงรับคำแนะนำของผู้ใหญ่ท่านนั้นและได้มอบหมายให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณไปติดต่อหารือท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ เพื่อขอให้ท่านกรุณาตรวจดูว่า อุปสรรคทั้งหลายในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณนี้มีมูลเหตุมาจากสิ่งใด และจะมีวิธีแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้อย่างไร เพื่อให้การก่อสร้างเสร็จตามกำหนด
เมื่อ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ได้ไปพบท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ แล้ว ได้เรียนให้ท่านทราบเรื่องราวโดยละเอียด ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ นั่งสมาธิตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงได้พบว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการในการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณครั้งนี้มาจากการตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า “เอราวัณ” นั่นเอง เพราะคำว่า “เอราวัณ” นี้เป็นนามของ ช้างทรงของพระอินทร์
จากนั้นท่านได้แนะนำให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ ฟังว่า การก่อสร้างโรงแรมอันเป็นสถานที่ชุมนุมของบุคคลทุกประเภท ที่เข้ามาเช่าเช่นนี้ จะต้องแก้ไขด้วยการบอกกล่าว ขออำนาจต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ขอบารมีของพระองค์ท่าน จงดลบันดาลให้สิ่งที่ร้ายทั้งหลายกลับกลายเป็นดี การก่อสร้างโรงแรมนี้จึงจะลุล่วงได้ทันตามกำหนด และเมื่อได้ก่อสร้างโรงแรมเรียบร้อยแล้ว จะต้องตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ถวายแด่พระองค์ท่านทันที
หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯดังนั้นแล้ว พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ รีบนำความมาเรียนแก่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ให้ทราบ พล.ต.อ. เผ่า จึงมอบหมายให้ พล.ต.ต. ม.ล. จเร ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ครั้นการบนบานศาลกล่าวต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ เรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างโรงแรมก็เสร็จทันตามกำหนด พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ฯ จึงได้เชิญท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ มาพิจารณาสถานที่ที่จะตั้งศาลถวายท่านท้าวมหาพรหม และปรากฏว่าพระองค์ท่านโปรดตรงมุมของโรงแรมด้านสี่แยกราชประสงค์
สำหรับศาลของท่านท้าวมหาพรหมนี้ คุณเจือระวี ชมเสวี กับ ม.ล. ปุ่น มาลากุล เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระรูปหล่อจำลองนั้น คุณจิตร พิมโกวิท ช่างโทในสมัยนั้นที่ประจำแผนกกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นช่างปั้นตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยการค้นคว้าของ พระยาอนุมานราชธน
เมื่อสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมเสร็จแล้ว จึงได้ประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นประทับเมื่อ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดย ท่านอาจารย์ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. ได้มอบหมายให้คุณประยูร วงศ์ผดุง เป็นผู้ทำพิธี ด้วยการติดต่อทางจิตผ่านท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ซึ่งเป็นผู้ชี้แนะทั้งสิ้น
เรื่องราวมหัศจรรย์เกี่ยวกับองค์ท่าน “ท้าวมหาพรหม” ที่โรงแรมเอราวัณนี้ เมื่อครั้งที่ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ยังมีชีวิตอยู่ท่านเคยเล่าถึงองค์เทพที่สถิตอยู่ในองค์รูปปั้นท่านท้าวมหาพรหมว่า แท้ที่จริงก็คือทิพย์วิญญาณ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๔ ของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง
จากการตรวจด้วย “ทิพยจักษุ” และการติดต่อทิพย์วิญญาณทางสมาธิ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ ได้เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นพรหม ทางมีตำแหน่งหน้าที่เป็นรองท่านท้าวมหาพรหมและได้รับพระนามใหม่ว่า “ท่านท้าวเกศโร” ซึ่งเมื่อ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ได้ทำพิธีประดิษฐานพระรูปปั้นขององค์ท่านท้าวมหาพรหม จึงได้อัญเชิญพระวิญญาณให้มาสถิตอยู่ที่พระรูปปั้นด้วย เพื่อให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากและความเดือดร้อนของประชาชนที่มาสักการะ ตามปกติพระองค์จะเสด็จประทับยังศาลในตอนค่ำของทุกวัน ยกเว้นวันพระ เพราะพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์
อนึ่ง การไปขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ณ ศาลท่านท้าวมหาพรหมนั้น ถ้าเป็นการกราบไหว้บูชาธรรมดาก็ใช้ดอกไม้สดหรือพวงมาลัยดอกไม้สด ธูป ๗ ดอก เทียน ๑ เล่ม หากเป็นการแก้บนจึงควรถวายด้วยพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้สดต่างๆ ๗ สี ยาว ๗ ศอก ธูป ๙ ดอก เทียน ๑ เล่ม สำหรับดอกไม้สดนั้น พระองค์ท่านโปรดดอกกุหลาบสีแดง ทั้งนี้มิใช่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวิชานฯ กำหนดขึ้นเอง แต่ทราบได้โดยการติดต่อทางจิตด้วยญาณพิเศษของท่าน ดังได้กล่าวมาแล้ว
[๔๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีพรหม
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีบุรพาจารย์
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีอาหุไนยบุคคล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าพรหมนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพาจารย์นี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าอาหุไนยบุคคลนี้ เป็นชื่อของมารดาและบิดา
ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร ฯ
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์และว่าอาหุไนยบุคคล
เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงนมัสการและ สักการะ มารดาบิดา ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การอบกลิ่น การให้อาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง
เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดา นั้นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ
แหล่งข้อมูล >>> http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=20&A=3468&Z=3481
เรื่องของพระพรหมและพระพาหิยเถร 28 - พระพาหิยเถระ เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา พระพาหิยะ เกิดในวรรณแพศย์ ตระกูลกุฎุมพี แคว้นพาหิยะ คงจะเรียกชื่อท่านตามชื่อแคว้น เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ประกอบอาชีพค้าขายตามบรรพบุรุษ เนื่องจากมีถิ่นฐานอยู่แถบชายฝั่งทะเล จึงอาศัยเรือเดินทะเลบรรทุกสุวรรณภูมิ อันตั้งอยู่ในแคว้นกัมโพชะ อินเดียตอนเหนือ ท่าจอดเรือรับส่งขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือสุปปารกะ ในอปรันตชนบท เรือแตกแต่รอดตาย การเดินเรือค้าขายเป็นไปตามปกติตลอดมา แต่วันหนึ่งขณะที่เรือกำลังเล่นอยู่ในทะเล ใกล้จะถึงท่าสุปปารกะ ได้มีลมพายุเกิดคลื่นใหญ่ซัดเรืออับปางลงลูกเรือตายทั้งหมด พาหิยะ คนเดียวเท่านั้นที่อาศัยเกาะแผ่นกระดาน สามารถพยุงกายมิให้จมน้ำตายเป็นเหยื่อปลาในทะเล พยายามกระเสือกกระสนประคองกายเข้ามาถึงฝั่งที่ท่าสุปปารกะได้ แต่พาหิยะก็มาถึงท่าเพียงตัวเท่านั้น เสื้อผ้าที่สวมใส่หลุดหายไปในทะเล เหลือแต่ร่างกายที่เปลือยเปล่า ณ บริเวณท่าเรือสุปปาระกะนั้น มีพ่อค้าประชาชนหนาแน่น เพราะเป็นศูนย์กลางการ ขนถ่ายสินค้าและการค้าขาย พาหิยะ นอนหมดแรงอยู่ที่ชายฝั่งทั้งหิวทั้งเพลีย นอนคิดหาหนทางเพื่อเอาชีวิตรอดต่อไป แต่รู้สึกเขินอายที่ร่างกายเปลือยเปล่า ไม่มีสิ่งใดปิดบังร่างกายเลย จึงใช้เปลือกไม้บ้างใบไม้บ้าง เท่าที่จะหาได้มาทำเป็นเครื่องปิดบังแทนเครื่องนุ่งห่ม และได้เข้าไปอาศัยร่มเงาที่ศาลเทพารักษ์แห่งหนึ่งใกล้ๆ บริเวณท่าเรือสุปปารกะนั้น พอความเหนื่อยเพลียบรรเทาลงแล้ว จึงถือแผ่นกระเบื้องเที่ยวขออาหารจากชาวบ้าน อรหันต์เปลือย ในยุคสมัยนั้นคำว่า “พระอรหันต์” เป็นคำที่ประชาชนกล่าวขานกันทั่วไปว่า มีอยู่ที่โน่นบ้าง มีอยู่ที่นี่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดได้เคยพบพระอรหันต์จริง ๆ เลย พอได้เห็นพาหิยะผู้นุ่งเปลือกไม้ มีร่างกายผ่ายผอม ถือแผ่นกระเบื้องเดินมาในลักษณะอย่างนั้น ต่างก็พากันเข้าใจว่า“นี่แหละ คือ พระอรหันต์” ดังนั้นจึงพากันให้อาหารบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทำให้พาหิยะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่พาหิยะปฏิเสธไม่ยอมรับเสื้อผ้ามาสวมใส่ เพราะเกิดความคิดว่า “ถ้าสวมใส่เสื่อผ้าแล้ว จะทำให้เสื่อมจากลาภสักการะ” อีกทั้งก็เริ่มเข้าใจผิดคิดว่าตนเป็นพระอรหันต์จริง ๆ จึงดำรงชีวิตและปฏิบัติตนไปตามนั้น ใบไม้และเปลือกไม้ที่แห้งไปก็เปลี่ยนใหม่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้นามต่อท้ายชื่อของท่านว่า “ทารุจิริยะ”และเรียกชื่อท่านเต็มๆ ว่า “พาหิยทารุจิริยะ” ซึ่งแปลว่า พาหิยะผู้มีเปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และท่านได้ดำเนินชีวิตโดยทำนองนี้เรื่องมาเป็นเวลานาน ** พระพรหมมาเตือนให้กลับใจ ** วันหนึ่ง ได้มีพระพรหม ผู้เคยเป็นสหายเก่าที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันในอดีตชาติกับพาหิยะ และได้บรรลุธรรมถึงชั้นอนาคามิผล เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส ได้ติดตามดูพฤติกรรมของพาหิยะมาตลอด เห็นว่าสหายกำลังปฏิบัติผิดทาง ดำเนินชีวิตด้วยการลวงโลก ซึ่งจะทำให้เขาไปเกิดในทุคติอบายภูมิ จึงลงมาเตือนให้สติว่า “พาหิยะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ บัดนี้ พระอรหันต์ที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้วในโลก ขณะนี้ พระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีแคว้นโกศล” พระหิยะ ได้ฟังคำเตือนของพระพรหมผู้เป็นสหายเก่าแล้วเกิดความสลดใจในการกระทำของตนเอง รู้สึกสำนึกผิดเลิกละการกระทำนั้น และเกิดความปิติยินดีที่ทราบว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก จึงรีบออกเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะ มุ่งสู่เมืองสาวัตถี ซึ่งมีระยะทางถึง ๑๒๐โยชน์ (๑๙๒ กม.) ท่านเดินทางทั้งวันทั้งคืนอย่างรีบร้อน เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาให้เร็วที่สุด เพราะไม่รู้แน่ว่าความตายจะมาถึงเมื่อใด ท่านเดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี ในเวลารุ่งเช้า แล้วรีบตรงไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อได้ทราบว่า ขณะนี้พระบรมศาสดา เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมือง จึงรีบติดตามไปในเมืองและได้พบพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ ด้วยความปีติยินดีอย่างที่สุดได้เข้าไปกราบแทบพระบาทแล้ว กราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พระพุทธองค์องค์ตรัสห้าวว่า “พาหิยะ เวลานี้ มิใช่เวลาแสดงธรรม” ตรัสรู้เร็วพลัน พาหิยะ ได้พยายามกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงพระธรรมเทศให้ฟัง โดยตรัสสอนให้สำรวมอินทรีย์ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้มรส และสัมผัสสักแต่ว่าสัมผัสเท่านั้น อย่ายินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น และหมั่นสำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่เป็นนิตย์ พาหิยะ ส่งกระแสจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในทันที ท่านได้กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ในอดีตชาติท่านพาหิยะ ไม่เคยทำบุญสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรด้วยบาตรและจีวรเลย เมื่อบวชแล้วบาตรและจีวรที่จะเกิดด้วยบุญฤทธิ์ ก็จะไม่มีจึงรับสั่งให้ท่านไปหาบาตรและจีวรมาให้ครบก่อน และในขณะที่ท่านกำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้น ได้ถูกอมนุษย์ผู้เคยเป็นศัตรูกันมากแต่อดีตชาติ เข้าสิงร่างแม่โคลูกอ่อนวิ่งเข้าขวิดท่านตาย จึงถือว่าท่านนิพพานตั้งแต่ยังไม่ได้บวช พระพุทธองค์ เสด็จกลับจากบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นศพของท่านนอนอยู่ริมทาง จึงรับสั่งให้ภิกษุที่ติดตามเสด็จมา จัดการฌาปนกิจให้ท่าน และทรงยกย่องท่านในตำแหน่ง เอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็วพลัน *** พรหมเพื่อนผู้ที่มาเตือนสติท่านพาหิยะ พระพรหมองค์นั้นคือผู้ที่ดูแลชินบัญชรคาถาในปัจจุบันนี้ *** แหล่งข้อมูล >>> http://www.84000.org/one/1/28.html
ท้าวมหาพรหมชินะปัญจะระที่หลายท่านอ้างถึง
คือ ท้าวมหาพรหมสหายของพระพาหิยะ
ผู้แนะนำให้กลับตัวกลับใจในพุทธกาลนั้นเอง
การสิงทรง พระพรหมในพระพุทธศาสนาไม่มี มีแต่ปฏิบัติจิตมีอดีตเหตุจึงมาช่วย
ได้ถามครูอาจารย์หลายท่าน ท้าวมหาพรหมชินะปัญจะระที่คนไทยนับถือมีที่มาจากองค์นี้
จะได้โมทนาได้ถูกทาง ไม่งมงาย ไม่โดนหลอก
จากพวกเปรต อสุรกาย เทพมิจฉาต่างๆๆ
สามารถสวดพระคาถาชินบัญชร แล้วโมทนาความดีท่าน
กลับตัวกลับใจ ละชั่ว ทำดี
ท่านยังเป็นพรหมอนาคามีอยู่ เหมือนการมาดูแล เป็นพรหมประจำคาถานั้นเอง
แม้ชื่อนั้นคนก็กล่าวไปในชื่อคาถา ไม่ใช่นามจริงท่าน แต่มีที่มา
บูชาพรหม ให้มีพรหมวิหารธรรมละชั่วทำดี ทำใจผ่องใส ดีที่สุด
23 ธ.ค. 2554
23 ธ.ค. 2554
23 ธ.ค. 2554