ประวัติเทพเซียนองค์สำคัญ

Last updated: 23 ธ.ค. 2554  |  105461 จำนวนผู้เข้าชม  | 


ประวัติเทพเซียนองค์สำคัญ

องค์ที่ 1. เริ่มต้นด้วยเจ้าแม่กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม (ประสูติ 19 เดือนยี่จีน) ชาติสุดท้ายเป็น ราชธิดานาม เมี่ยวซ่าน เดิมเป็นเทพธิดา มาจุติยังโลกมนุษย์เพื่อมาช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ เป็นราชธิดาองค์สุดท้ายของกษัตริย์ เมี่ยวจวง ซึ่งมีราชธิดา 3 องค์ องค์โตชื่อ เมี่ยวอิม องค์รองชื่อ เมี่ยวหยวน และองค์เล็ก เมี่ยวซ่าน

พระธิดาเมี่ยวซ่านในเยาว์วัยเป็นพุทธมามกะ รู้แจ้งในหลักธรรมลึกซึ้ง ตั้งพระทัยแน่วแน่จะบำเพ็ญภาวนา เพื่อหลุดพ้นสังสารวัฏ ออกบวชวันที่ 19 เดือน 9 พระเจ้าเมี่ยวจวงไม่เห็นด้วย จะบังคับให้เลือกราชบุตรเขย เพื่อจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป แต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่สนพระทัยเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ อันจอมปลอม แม้จะถูกพระบิดาดุด่าอย่างไร องค์หญิงก็ไม่เคยนึกโกรธเคืองแต่อย่างใด

ต่อมาองค์หญิงสามได้ถูกขับไปทำงานหนักในสวนดอกไม้ เช่น หาบน้ำ ปลูกดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อทรมานให้เปลี่ยนความตั้งใจ แต่ก็มีเหล่ารุกขเทวดามาช่วยทำแทนให้ทั้งหมด พระบิดาเมื่อเห็นว่าไม่ได้ผล จึงรับสั่งให้หัวหน้าแม่ชี นำองค์หญิงสามไปอยู่ที่วัดนกยูงขาว และให้เอางานของแม่ชีทั้งวัดมอบให้องค์หญิงทำคนเดียว แต่องค์หญิงมีพระทัยเด็ดเดี่ยว ไม่เกี่ยงงานการต่างๆ ก็มีเหล่าเทพารักษ์มาช่วยทำแทนให้อีก พระเจ้าเมี่ยวจวงเข้าพระทัยว่า พวกแม่ชีไม่กล้าเคี่ยวเข็ญใช้งานหนัก ก็ยิ่งทรงกริ้วหนักขึ้น สั่งให้ทหารเผาวัดนกยูงขาวจนวอดเป็นจุณไป พร้อมกับพวกแม่ชีทั้งวัด มีแต่เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านเท่านั้นที่ปลอดภัยรอดชีวิตมาได้

พระเจ้าเมี่ยวจวงทรงทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวราชธิดาไปประหารชีวิต เทพารักษ์คอยคุ้มครองเจ้าหญิงอยู่ โดยเนรมิตทองทิพย์เป็นเกราะห่อหุ้มตัว คมดาบของนายทหารจึงไม่อาจระคายพระวรกาย ดาบหักถึง 3 ครั้ง 3 ครา พระบิดาทรงกริ้วยิ่งนัก โดยเข้าพระทัยว่านายทหารไม่กล้าประหารจริง จึงให้ประหารนายทหารแทน แล้วรับสั่งให้จับเจ้าหญิงไปแขวนคอ ทว่าผ้าแพรที่แขวนคอก็ขาดสะบั้นลงอีก

ทันใดนั้นปรากฏมีเสือเทวดาตัวหนึ่งได้นำเจ้าหญิงขึ้นพาดหลังแล้วเผ่นหนีไปที่เขาเซียงซัน ต่อมา เทพไท่ไป๋ได้แปลงร่างเป็นชายชรามาโปรดเจ้าหญิง ชี้แนะเคล็ดวิธีการบำเพ็ญเพียรเครื่องดับทุกข์ จนสามารถบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรม วันที่ 19 เดือน 6 ข้างฝ่ายพระบิดาเข้าพระทัยว่า เจ้าหญิงถูกเสือคาบไปกินเสียแล้ว จึงไม่ได้ติดใจตามราวีอีก

ต่อมาไม่นานบาปกรรมที่พระองค์ก่อไว้ส่งผล เกิดป่วยด้วยโรคร้ายแรง ไม่มียารักษาให้หายได้ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้ทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า พระบิดากำลังประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ มิได้ถือโทษโกรธการกระทำพระบิดาแม้แต่น้อย ทรงได้สละดวงตาและแขนสองข้าง เพื่อรักษาพระบิดาจนหายจากโรคร้าย ว่ากันว่า ภายหลังสำเร็จอรหันต์ ทรงได้ดวงตาและพระกรคืน เคยแสดงปาฏิหารย์เป็นปางกวนอิมพันมือ องค์หญิงเมี่ยวซ่านนั้น ตอนแรกเป็นชาวพุทธ ตอนหลังเทพไท่ไป๋ได้มาโปรด ชี้แนะหนทางดับทุกข์ เหตุนี้พระโพธิสัตว์กวนอิมจึงเป็นเทพทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายเต๋าในเวลาเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.thamnaai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=470599&Ntype=3

2. โป็ยเซียน (八仙) หรือ เทพ 8 เซียน

 

โป็ยเซียนประกอบด้วยเซียน 8 องค์ดังนี้

เซียนองค์ที่ 1 หลีทิก๊วย

หลีทิก๊วย
เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 200 เดิมชื่อ หลีเหียน เมื่อเป็นหนุ่มเป็นชายรูปงาม กำพร้าบิดามารดา มีความสนใจในการท่องบทคัมภีร์และมีใจฝักใฝ่ในธรรมะ ไม่เสพเนื้อสัตว์ เป็นคนรักสันโดษ ต่อมาได้ละเคหสถานพำนักรักษาศีลตามโรงเจ เมื่อมีผู้มาขอทรัพย์สินและบ้านที่เคยอยู่อาศัยก็สละให้หมด และออกบำเพ็ญตบะตามถ้ำ ต่อมาได้เดินทางไปยังเขาฮั่วซัวฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลีเล่ากุล อาจารย์ใหญ่ พร้อมกับศึกษาธรรมบำเพ็ญภาวนาจนสำเร็จ มีผู้นับถือและสมัครเป็นศิษย์มากมาย มีศิษย์ก้นกุฏิคนหนึ่งชื่อ เอี้ยวจื้อ อยู่มาวันหนึ่งหลีเหียนได้ถอดวิญญาณออกจากร่างไปหาอาจารย์ โดยบอกให้เอี้ยวจื้อดูแลร่างไว้ให้ดีครบ 7 วัน จะกลับมา พอวันที่ 6 มารดาของเอี้ยวจื้อเจ็บหนัก และเอี้ยวจื้อคิดว่าอาจารย์ได้ตายแล้ว จึงเผาร่างอาจารย์และรีบเดินทางไปหามารดา แต่มารดาได้ตายเสียก่อน ส่วนหลีเหียนหลังจากถอดวิญญาณไปแล้วอาจารย์หลีเล่ากุลได้พาไปศึกษาวิชาเซียน 36 สำนัก เมื่อกลับมาไม่พบร่างของตน พบแต่กองขี้เถ้า วิญญาณหลีเหียนจึงเที่ยวล่องลอยหาร่างใหม่อาศัย เมื่อไปพบศพขอทานขาพิการสกปรกมีไม้เท้าและถุงข้าวสารอยู่ข้างๆ จึงเข้าไปอาศัยร่างและได้เสกไม้เท้าเป็นไม้เท้าเหล็ก เสกถุงข้าวสารเป็นน้ำเต้า ส่วนข้าวสารก็เสกเป็นยารักษาโรค และได้เรียกตนเองว่า หลีทิก๊วย จากนั้นก็รีบไปชุบชีวิตมารดาของเอี้ยวจื้อให้ฟื้นขึ้น แล้วหลีทิก๊วยก็กลับไปอยู่สำนักหลีเล่ากุลเป็นเซียนองค์ที่หนึ่ง ผู้ใดปรารถนาจะให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ให้จุดธูปบูชาและอธิษฐานถึง เซียนหลีทิก๊วย


เซียนองค์ที่ 2 อั่นเจ็งหลี

ฮั่นเจ็งหลี เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 340 ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นบุตรของเจ้าเมืองหุนตัง เดิมมีชื่อว่า เจ็งหลีกั๊ก ต่อมาได้เป็นแม่ทัพของกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ได้ยกทัพไปรบกับ ปุดยู้ แม่ทัพโทวฮวน และได้ฆ่าฟันข้าศึกล้มตายเป็นจำนวนมาก หลีทิก๊วยเซียนองค์ที่หนึ่งเล็งด้วยญาณรู้ว่า เจ็งหลีกั๊กเดิมเป็นเซียนรักษาหอสมุดบนสวรรค์ แต่ได้ทำความผิดฐานทำหนังสือประวัติโหงวแป๊ะเซียน (เซียนห้าร้อยองค์) หาย จึงถูกลงโทษให้มาเกิดบนโลกมนุษย์ หลีทิก๊วยจึงคิดช่วยเจ็งหลีกั๊กให้ได้กลับเป็นเซียน จึงแนะอุบายให้ปุดยู้ใช้ทหารหญิงปลอมตัวไปส่งเสบียงให้ทหารของเจ็งหลีกั๊ก ทหารหญิงพวกนี้ได้มอมสุราทหารเจ็งหลีกั๊กจนเมามาย แล้วยกทัพเข้าตีทัพเจ็งหลีกั๊กจนแตกทัพ แต่เจ็งหลีกั๊กหนีรอดไปได้ และได้พบกับอาจารย์ ตังหัวจินหยิน อาจารย์ตังหัวจินหยินได้สอนธรรมะรวมทั้งสอนวิธีใช้ไฟธาตุในร่างกายหลอมสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นทองและให้กั้นหยั่นวิเศษแก่เจ็งหลีกั๊ก ต่อมาเจ็งหลีกั๊กได้ลาอาจารย์เดินทางกลับบ้าน อาจารย์ตังหัวจินหยินได้บอกกับเจ็งหลีกั๊กว่าวันหนึ่งจะกลับไปเป็นศิษย์ เมื่อได้พบกับพี่ชายชื่อ เจ็งหลีกั้ง เจ็งหลีกั๊ก จึงชวนพี่ชายออกบำเพ็ญตบะ ได้ช่วยชาวบ้านฆ่าเสือและหลอมก้อนกรวดให้เป็นทองเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน ต่อมาวันหนึ่งหลีทิก๊วยได้มารับเจ็งหลีกั๊กไปเป็นเซียนองค์ที่สองของสำนักหลีเล่ากุน และให้ชื่อว่า ฮั่นเจ็งหลี เซียนฮั่นเจ็งหลีได้นำมนต์ใช้ไฟธาตุในตัวและกั้นหยั่นวิเศษมอบให้กับอาจารย์ ฮวยเหล็งจินหยิน เพื่อฝากคืนให้แก่อาจารย์ตังหัวจินหยิน ผู้ใดปรารถนาจะให้ตนมีความกล้าหาญ เข้มแข็ง เอาชนะศัตรูได้ พึงจุดธูปเทียนบูชาและอธิษฐานถึง เซียนฮั่นเจ็งหลี


เซียนองค์ที่ 3 ลี่ตงปิน

ลื่อทงปินเกิดเมื่อ พ.ศ. 1341 ในราชวงศ์ถัง เป็นบุตรของเจ้าเมืองไฮจิ่ว ในอดีตชาติเป็นอาจารย์ ตังหัวจินหยิน ที่กลับชาติมาเกิด วันหนึ่งได้ออกเที่ยวป่าและได้พบกับอาจารย์ ฮวยเหล็งจินหยิน อาจารย์ฮวยเหล็งจินหยินทราบว่าลื่อทงปินคืออาจารย์ตังหัวจินหยินที่กลับชาติมาเกิด จึงได้สอนการบำเพ็ญธรรมและวิชาใช้ไฟธาตุหลอมสิ่งของต่างๆ ให้กลายเป็นทอง พร้อมทั้งได้มอบกั้นหยั่นวิเศษที่ ฮั่นเจ็งหลี ฝากไว้ให้ ต่อมาลื่อทงปินได้ออกช่วยเหลือประชาชนฆ่ามังกรยักษ์ด้วยกั้นหยั่นวิเศษ และได้ปลอมตัวเป็นคนหาบน้ำมันขาย ผู้ใดที่ซื้อน้ำมันแล้วไม่ขอแถมก็จะอุปถัมภ์ ปรากฏว่ามีหญิงชรามาขอซื้อน้ำมันแล้วไม่ขอแถมอีกทั้งยังเอื้อเฟื้อให้อาหารแก่ลื่อทงปิน ลื่อทงปินจึงเอาข้าวสุกโปรยลงในบ่อน้ำและเสกให้เป็นสุราอย่างดีให้หญิงชราและลูกชายขายจนร่ำรวย วันหนึ่งลื่อทงปินไปกินอาหารร้านนางซินสี และไม่ได้จ่ายเงินอยู่ 4 วัน นางซินสีก็ไม่ทวงถาม ลื่อทงปินจึงเอาเปลือกส้มมาเสก เป็นนกกระเรียนติดไว้กับผนังร้าน เพื่อให้นางซินสีเรียกนกกระเรียนมาเต้นรำให้ผู้กินอาหารดู ทำให้มีผู้มากินอาหารมากมายจนนางซินสีร่ำรวย ต่อมาลื่อทงปินไปสอบเป็นขุนนางได้ชั้นจิ้นลือ อยู่มาวันหนึ่งได้พบกับฮั่นเจ็งหลีเซียนองค์ที่สอง ฮั่นเจ็งหลีจึงชวนไปบำเพ็ญตบะที่ภูเขาเฮาะฮง ลื่อทงปินรับคำแล้วลาออกจากขุนนาง แล้วเดินทางแวะไปหาหญิงชราและลูกชายที่เคยเสกน้ำในบ่อให้เป็นสุรา ลูกชายหญิงชราพูดจายโสไม่ให้ความเคารพ ลื่อทงปินจึงเรียกเอาเมล็ดข้าวขึ้นมา ทำให้สุราในบ่อกลายจึงเป็นน้ำตามเดิม จากนั้นได้แวะไปหานางซินสี นางซินสีได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ลื่อทงปินได้ขอนกกระเรียนจากผนังร้านคืนและบอกนางซินสีว่า ถ้าอยากร่ำรวยก็ให้จุดธูปบูชาถึงตน จากนั้นก็ขี่นกกระเรียนไปเป็นเซียนองค์ที่สาม ถ้าผู้ใดปรารถนาให้ค้าขายมีกำไรร่ำรวยเป็นเศรษฐี พึงจุดธูปและอธิษฐานถึง เซียนลื่อทงปิน


เซียนองค์ที่ 4 เตียกั๊วเล้า

เตียกั๊วเล้าเกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1170–1226 ในสมัยพระนางบูเช็กเทียน และพระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ กำเนิดเดิมเป็นค้างคาวเผือก ได้อาบแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ และจำศีลภาวนาหลายพันปีจึงกลายเป็นมนุษย์ มีลาเผือกเป็นพาหนะ แต่จะขี่ลาหันหน้าไปข้างหลัง แม้เตียกั๊วเล้าจะมีอายุมากกว่าร้อยปีแล้วแต่ก็ยังดูหนุ่มแน่นเมื่อพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบ จึงทรงให้นางข้าหลวงไปเชิญเตียกั๊วเล้าเข้าวัง แต่เตียกั๊วเล้าแกล้งทำเป็นลมชักสลบไป มีหนอนขึ้นตาม จมูก ปาก และหู ทำให้ทุกคนเชื่อว่าตายไปแล้วแต่ต่อมาศพก็ได้หายไป จนกระทั่งในสมัยของพระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ ได้ทรงให้ข้าหลวงไปเชิญเตียกั๊วเล้าเข้าเฝ้า เตียกั๊วเล้าก็แกล้งทำเป็นตายอีก พวกข้าหลวงได้พร่ำอ้อนวอนจนเตียกั๊วเล้าใจอ่อน จึงฟื้นขึ้นและยอมเข้าวัง พระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ต่อมาเตียกั๊วเล้าเบื่อหน่ายที่จะอยู่ในราชวัง จึงทูลพระเจ้าเม่งจงขอกลับไปอยู่ตามป่าเขา พระเจ้าเม่งจงฮ่องเต้ก็ทรงอนุญาตและทรงพระราชทานสิ่งของและจัดรถลากให้ โดยมีคนลากคนหนึ่งและคนเข็นหลังรถอีกคนหนึ่ง เมื่อเดินทางถึงเมืองเฮ่งจิว เตียกั๊วเล้าก็ให้คนทั้งสองกลับไปแต่ หลีแซ ไม่ยอมกลับ และมีความเลื่อมใสในตัวของเตียกั๊วเล้า จึงขอเป็นศิษย์ติดตามรับใช้ ถือศีลกินเจ เรียนมนต์คาถาและศึกษาธรรมจากเตียกั๊วเล้า วันหนึ่งหลีแซได้มากราบทูลพระเจ้าเม่งจงว่าเตียกั๊วเล้าเป็นไข้ป่าตายเสียแล้ว จึงรับสั่งให้จัดโลงศพทองคำพร้อมกับทำฮวงซุ้ยบรรจุศพอย่างดี แต่พอเปิดโลงศพออกไม่พบศพ มีแต่กระดาษเขียนทูลลาว่าต้องไปเป็นเซียนองค์ที่สี่ ผู้ที่ปรารถนาให้ตนมีเสน่ห์และเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั้งหลายให้จุดธูปบูชา และให้อธิษฐานถึงเซียนเตียกั๊วเล้า


เซียนองค์ที่ 5 หลั่นไฉ่เหอ

ตามตำนานเล่าว่า น่าไช่ฮั้ว เป็นวณิพกเที่ยวร้องเพลงขอทานไปตามหมู่บ้าน มีเครื่องแต่งกายคร่ำคร่าอยู่ 2 ชุด ชุดหนึ่งหนาใช้ใส่ในฤดูร้อน ส่วนอีกชุดหนึ่งบางใช้ใส่ในฤดูหนาว ซึ่งผิดกับคนธรรมดาทั่วๆ ไป และมีกรับอันหนึ่งยาวสามฟุตใช้ขยับให้จังหวะขณะร้องเพลง อยู่มาวันหนึ่งน่าไช่ฮั้วได้ตีกรับร้องเพลงไปตามหมู่บ้าน จนเผลอหลงเข้าไปในป่าหาทางกลับไม่ถูก พอพลบค่ำน่าไช่ฮั้วได้หาที่นอนบริเวณเชิงเขา ครั้นถึงเวลายามเศษก็แว่วเสียงดุริยางค์มาจากท้องฟ้า น่าไช่ฮั้วจึงแหงนขึ้นดู ก็เห็นเซียนหลายองค์นั่งอยู่ในกลุ่มก้อนเมฆ มีเซียนองค์หนึ่งได้ร้องบอกให้น่าไช่ฮั้วอย่ามัวเที่ยวขอทานอยู่เลย ให้ตั้งหน้าตั้งตารักษาศีล ท่องมนต์ บำเพ็ญเพียรญาณตบะให้มั่นคง อีกสามวันแห่งสวรรค์หรือสามปีในโลกมนุษย์จะมารับไปเป็นเซียน และมอบคัมภีร์ให้น่าไซ่ฮั้วได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมภาวนามนต์ตามคัมภีร์จนจบ มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย ในคืนวันเดือนเพ็ญคืนหนึ่งขณะที่น่าไซ่ฮั้วนั่งสนทนากับศิษย์จำนวนร้อยแปดคนในถ้ำก็แว่วเสียงดุริยางค์สังคีตล่องลอยมาจากท้องฟ้า น่าไช่ฮั้วก็ทราบโดยทันทีว่า หลีทิก๊วย มารับตนไปเป็นเซียนแล้ว น่าไช่ฮั้วจึงบอกศิษย์ทุกคนจงตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม แล้วน่าไช่ฮั้วก็เสกกรับของตนให้เป็นนกกระเรียน แล้วให้นกกระเรียนสลัดขนไว้ร้อยแปดอันเสกเป็นกำไรมือพร้อมกับให้ศิษย์เก็บไว้คนละอัน กำไรมือจะช่วยป้องกันอันตรายเว้นแต่ผู้ไม่สุจริตเท่านั้น หลังจากนั้นน่าไซ่ฮั้วก็ขึ้นขี่นกกระเรียนตามหลีทิก๊วยไปเป็นเซียนองค์ที่ห้า ผู้ใดปรารถนาให้ตนได้เป็น ศิลปินที่มีผู้คนนิยม พึงจุดธูปบูชาและอธิษฐานถึง เซียนน่าไช่ฮั้ว


เซียนองค์ที่ 6 เหอเซียนโกว

ฮ่อเซียนโกว เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1233 ในราชวงศ์ถัง เป็นบุตรีของ ฮ่อซู เดิมมีชื่อว่า ฮ่อสี อยู่ที่เมืองกวางตุ้ง เป็นคนมีรูปร่างอ้วน ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่เป็นคนใจบุญ มีความประพฤติเรียบร้อย และจิตใจฝักใฝ่ในพระธรรม คืนวันหนึ่งมีเทวดามาเข้าฝันให้นางหาแป้งฮุ่นบ๊อมารับประทานแล้วนางจะมีรูปร่างงดงาม ไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ เมื่อตื่นขึ้นจึงให้คนไปหาแป้งฮุ่นบ๊อมารับประทาน จนกระทั่งร่างกายของนางมีความสวยงามดุจเทพธิดา วันหนึ่งในขณะที่นางฮ่อสีเดินเล่นมาจนถึงชายหาดริมแม่น้ำหุ้นห้อเกย นางก็ได้พบ หลีทิก๊วย และ น่าไช่ฮั้ว นั่งสนทนาธรรมกันอยู่ที่ศาลา นางจึงเข้าไปกราบขอร่วมฟังการสนทนาธรรมด้วย เนื่องจากนางมีใจฝักใฝ่ในพระธรรมอยู่แล้วจึงได้มอบตัวเป็นศิษย์ หลีทิก๊วยได้มอบคัมภีร์วิชาเซียนให้กับนางได้ใช้เป็นแนวทางในการฝึกปฏิบัติบำเพ็ญตบะ หลังจากที่นางได้เรียนวิชาเซียนจบแล้วจึงบอกบิดามารดาว่าต่อไปจะต้องไปเป็นเซียน ต่อมาในคืนวันเพ็ญเดือนหก ขณะที่นางนั่งสวดมนต์อยู่ก็แว่วเสียงดุริยางค์สังคีตล่องลอยมาจากอากาศ นางก็ทราบได้ทันทีว่าหลีทิก๊วยมารับไปเป็นเซียน นางจึงรีบปลุกบิดามารดาให้ลุกขึ้น แล้วจุดธูปบูชาเซียน จากนั้นนางก็ร่ำลาบิดามารดา และบอกว่าหลีทิก๊วยมารับไปเป็นเซียน เมื่อหลีทิก๊วยขี่เมฆล่องลอยมาถึงก็บอกให้นางฮ่อสีเสกคัมภีร์ให้เป็นนกกระเรียน ขึ้นขี่นกกระเรียนตามหลีทิก๊วยไป เมื่อถึงเขาฮั่วซัว หลีเล่ากุน อาจารย์ใหญ่ก็ออกมาต้อนรับ และจัดให้เป็นเซียนองค์ที่หก ผู้ใดปรารถนาให้ตนมีอายุยืนนาน มีรูปร่างสวยงาม มีสติปัญญาดี พึงจุดธูปเทียนบูชา และอธิษฐานถึง เซียนฮ่อเซียนโกว


เซียนองค์ที่7 ฮั่นเซียงจื่อ

ฮั่นเซียงจือ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1503 ในสมัย พระเจ้าเต็กจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ถัง เป็นหลานของ ฮั่นหยู ซึ่งรับราชการเป็นปลัดกระทรวงวัง ฮั่นเซียงจือมีความสนใจผู้วิเศษ จึงได้ออกสืบเสาะค้นหาจนกระทั่งได้พบเซียน ลื่อทงปิน เซียนองค์ที่ 3 จึงได้ศึกษาวิชาเซียนและบำเพ็ญตบะอยู่สามปี หลังจากนั้นฮั่นเซียงจือก็ลาอาจารย์เดินทางกลับบ้าน ในระหว่างทางได้พบต้นท้อออกลูกสุกแดงจึงปีนขึ้นไปเก็บ แต่เหยียบกิ่งท้อหักพลาดตกลงมาสลบไปครั้นพอฟื้นขึ้นมาก็กลายเป็นเซียน ต่อมาในเมืองหลวงเกิดฝนแล้ง พระเจ้าเต็กจงฮ่องเต้จึงให้ฮั่นหยูซึ่งเป็นอาของฮั่นเซียงจือทำพิธีของฝน ถ้าฝนไม่ตกภายในเจ็ดวัน ก็จะถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ถ้าฝนตกในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็จะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นเสนาบดี ฮั่นหยูได้ทำพิธีอยู่หกวันฝนก็ไม่ตก ฮั่นเซียงจือจึงปลอมตัวเป็นโยคีมาช่วย โดยฮั่นหยูให้สัญญาว่าถ้าทำให้ฝนตกได้จะยกทรัพย์สมบัติให้ทั้งหมด ฮั่นเซียงจือจึงได้นั่งบริกรรมสวดมนต์ขอฝนจนกระทั่งฝนตกใหญ่สามวันสามคืน แต่ฮั่นหยูกลับไม่ยอมยกทรัพย์สินให้ฮั่นเซียงจือตามที่สัญญาเอาไว้ ฮั่นเซียงจือจึงคืนร่างจากโยคีไปเป็นเซียนและบอกกับฮั่นหยูว่าตนไม่ต้องการทรัพย์สินใดๆ เพียงแต่จะลองใจดูเท่านั้น ต่อมาฮั่นหยูประสบชะตากรรมถูกถอดยศและริบทรัพย์สิน สักหน้าแล้วถูกเนรเทศให้ไปอยู่ชายแดน ฮั่นหยูไปที่แห่งใดก็ไม่มีใครต้อนรับ มีแต่ความลำบากหิวโหย ฮั่นเซียงจือจึงบอกให้ฮั่นหยูไปบำเพ็ญพรตถือศีล ส่วนฮั่นเซียงจือได้ไปเขาฮั่วซัวสำนักหลีเล่ากุนเป็นเซียนองค์ที่เจ็ด ผู้ใดปรารถนาให้ตนเป็นนักประพันธ์และนักกวีที่มีชื่อเสียง พึงจุดธูปบูชาอธิษฐานถึง เซียนฮั่นเซียงจือ


เซียนองค์ที่8 เช่าก๊กกู๋

เช่าก๊กกู๋เกิดในสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นน้องชายของ พระนางเช่าสีฮองไทเฮา เช่าก๊กกู๋เป็นคนที่มีความประพฤติดีงาม ส่วนน้องชายของเช่าก๊กกู๋ชื่อ เช่ายี่ เป็นคนเกเร เที่ยวลักขโมยและข่มเหงชาวบ้าน เพราะถือตัวว่าเป็นน้องชายของฮองไทเฮา เช่าก๊กกู๋พยายามสั่งสอนว่ากล่าวก็ไม่เชื่อฟัง เช่าก๊กกู๋จึงคิดจะหลีกหนีไปเสีย ประกอบกับมีใจฝักใฝ่พระธรรมอยู่แล้ว จึงได้ทูลลาฮองไทเฮาออกท่องเที่ยวตามป่าเขาและบำเพ็ญตบะอยู่ตามถ้ำ ฝ่ายอาจารย์ หลีเล่ากุน เล็งญาณรู้ว่าเช่าก๊กกู๋บำเพ็ญตบะอยู่ในถ้ำหลายปีแล้ว ควรเชิญมาเป็นเซียนเพื่อให้ครบแปดองค์ จึงให้ ฮั่นเจ็งหลี และ ลื่อท่งปิน ไปรับเช่าก๊กกู๋ พร้อมกับเชิญ หลีทิก๊วย เตียกั๊วเล้า น่าไช่ฮั้ว ฮ่อเซียนโกว และ ฮั่นเซียงจือ ให้มาประชุมพร้อมกันเพื่อคอยต้อนรับเช่าก๊กกู๋ ในขณะที่หลีเล่ากุนกับเซียนทั้งปวงกำลังประชุมกันอยู่ที่เขาฮั่วซัวนั้น ฮั่นเจ็งหลีกับลื่อทงปินได้พาเช่าก๊กกู๋มาถึงเซียนทั้งปวงจึงพากันออกมาต้อนรับ หลีเล่ากุนได้กล่าวว่า ถึงแม้เช่าก๊กกู๋จะเป็นเชื้อพระวงศ์พรั่งพร้อมด้วยวาสนาและทรัพย์สมบัติยังสู้สละความสุขสบายมาถือสันโดษบำเพ็ญตบะจึงสมควรได้เป็นเซียนองค์ที่แปด ผู้ใดปรารถนามิให้ภูตผี พาลมากล้ำกลายรบกวน พึงจุดธูปบูชา และให้อธิษฐานถึง เซียนเช่าก๊กกู๋

 ขอบคุณข้อมูลจาก: http://atcloud.com/stories/67984

3. จี้กง

จี้กง เป็นเจ้าองค์หนึ่งที่โดดเด่นด้วยความไม่เหมือนใครในชุดนักบวชเต๋าแต่ดูซอมซ่อ ปุปะ มือถือพัดขาดๆ อีกมืออาจถือขวดเหล้าหรือรองเท้าข้าง
หนึ่ง ปรากฏว่าจี้กงมีตำนานว่าเป็นพระนักพรตในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ.1670-1822) มีเอกลักษณ์นิสัยที่แปลกจากพระ-เจ้าทำไปคือดื่มสุราสนุกสนานเฮฮา ไม่มีภาพของพระที่ควรสำรวมหรือสันโดดเลย แต่มีคุณสมบัติพิเศษตรงรักษาคนไข้ได้ระดับหมอเทวดา จึงชอบรักษาคนเจ็บ ช่วย เหลือคนจนและให้ทานคนหิว

จี้กงมีประวัติว่าบิดาเป็นขุนนาง (ชื่อหลี่เมี่ยชุน) จนอายุมากเข้าวัยกลางคนก็ยังไม่มีบุตร สืบสกุล หลี่เมี่ยชุน เริ่มกังวลกลัวว่าแก่ตัวลง ไปจะไม่มีใครดูแลตนและภรรยา จึงไปไหว้เจ้าขอลูกกับศาลเจ้าที่ ตกกลางคืนภรรยาหลี่เมี่ยชุนฝันเห็นพระโพธิสัตว์ทรงชุดยาว พักตร์ยิ้มผ่องใส พรโพธิสัตว์เสด็จมาหานางพร้อมประทานดอกบัวหลากสีแสนสวยงาม ในฝัน...พระโพธิสัตว์ตรัสแก่นางว่า... คำอธิษฐานของสามีเจ้าจะเป็นจริงเมื่อเจ้ากลืนดอกบัวสวรรค์นี้ นางขอบคุณแล้วกลืนดอกบัวลงไปได้ อย่างอัศจรรย์ นางรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนของดอกบัวขณะไหลเลื่อนในกายลงไปสู่กลางท้องนาง นางสะดุ้งตื่นทันทีต่อมานางก็ท้อง 10 เดือน ต่อมาได้คลอดเด็กชายหน้าตาน่ารักมากให้ชื่อเด็กนี้ว่า ซุยหยวน

หลี่ซุยหยวนได้โตขึ้นมาท่ามกลางความรักและอบอุ่นแต่แปลกจัง เด็กน้อยฝักใฝ่ลัทธิเต๋ามาก อายุ 7 ขวบก็ขอบวชแล้วเรียนอ่านตำราทางเต๋าจนรู้แตกฉานเมื่ออายุได้ 14 ปี ต่อมาบิดาตาย หลังจากนั้น 2 ปีมารดาก็เสียชีวิตจากไป หลี่ซุยหยวนจึงมุ่งไปทางเต๋าเต็มที่ ด้วยการไปอยู่วัดเป็นนักพรตเต๋าที่เคร่ง ได้ฉายาว่า เต๋าจี้

เต๋าจี้คร่ำเคร่งใฝ่ศึกษา แถมเรียนรู้ไว้ ภายในชั่วไม่นานก็รอบรู้หมดและเนื่องจากลัทธิเต๋าฝักใฝ่ใน การปรุงยา, การแสวงหาวิธีเป็นอมตะ จึงมีตำราทางยา, และวิธีการรักษาโรคประมาณหนึ่ง เต๋าจี้ที่เรียนรู้จนแตกฉานจึงสามารถรักษาคนป่วยได้ แล้วก็อุทิศตนเพื่อชาวบ้านเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องแปลกว่า เต๋าจี้เหมือนเริ่มเพี้ยน กินจุมากขึ้น ดื่มสุรา ได้มาก และเริ่มติงต๊องและรักสันโดดมากขึ้นๆ แต่ชาวบ้านก็ยังนับถือเต๋าจี้มาก เพราะรักษาโรคเก่ง พร้อมเริ่มเรียกเต๋าจี้ว่า จี้กง

วันหนึ่งขณะจี้กงเดินออกจากวัด ท่านเกิดเห็น ชายคนหนึ่งกำลังจะผูกคอตายใต้ต้นไม้ ทำเงื่อนเชือกทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงชายนี้โดดลงมาเพื่อให้เชือกรัดคอ จี้กงเห็นแล้วก็ตะโกนเสียงดังสุดๆว่า...โอ้ย...บ้าแล้ว...ฉันอยากตาย...ปรากฏว่าชายที่กำลังจะผูกคอตายเอาเชือกออกจากคอ แล้ววิ่งมาหาจี้กง ถามอย่างเป็นห่วงว่า...เกิดอะไรขึ้นทำไมจึงอยากฆ่าตัวตาย จี้กงบอกว่าเพราะเราทำเงินที่ญาติโยมนำมาบริจาคหาย ชายนั้นก็บอกว่า เราจะยกสมบัติที่เรามีให้ท่าน จะช่วยให้ท่านหายอยากตายไป......จี้กงถามชายคนนี้ว่า...อะไร...แล้วท่านล่ะ...อยากฆ่าตัวตายทำไม...ชายคนนี้บอกว่า เราชื่อ ต๋งซิหง มีปัญหาว่าเราเป็นหนี้จึงขายลูกสาวไปเป็นทาสให้เศรษฐี หนี้ของเราเกิดจากการต้องนำเงินไปรักษาแม่ที่ป่วยหนัก บัดนี้แม่ก็ตายแล้ว เราก็พยายามทำงานรวบรวมเงินจะไปไถ่ตัวลูกสาว คาดไม่ถึงว่า บ้านเศรษฐีได้ย้ายออกไป ไม่มีใครทราบว่าไปไหน แล้วลูกสาวของเราก็ต้องเป็นทาสเขาตลอดไป แล้วระหว่างนี้เราก็ถูกขโมยเงิน...ชีวิตที่รันทดอย่างนี้...เราไม่อยากอยู่เลย ตายเสียยังดีกว่า

จี้กงมองชายอย่างเมตตาแล้วบอกว่า "เราสัญญาว่าท่านกับลูกจะต้องได้เจอกันในไม่ช้านี้" เหมือนมีอะไรดลใจให้เชื่อ ต๋งซิหง ติดตามจี้กงไปยังอีกเมือง จี้กงบอกให้ ต๋งซิหงนั่งคอยอยู่ใต้ต้นไม้หนึ่ง สั่งไว้ว่า ถ้ามีใครมาถามวันเดือนปีเกิดก็ให้บอกไปตามจริง แล้วก็ตรงไปยังบ้านใหญ่หลังหนึ่ง ที่บ้านหลังใหญ่ จี้กงตบประตูเรียกคนในบ้านมาเปิด แล้วถามว่าที่นี้มีมารดาของเจ้าของบ้านกำลังป่วยหนักใช่หรือไม่ เรารักษาได้ ก็พอดีเจ้าของบ้านที่ออกไปนอกบ้านมาถึงพอดี เจ้าของบ้านซึ่งแซ่อิ๋วบอกจี้กงว่า...ใช่แม่เราป่วย และนี่เราก็ได้ซินแสมารักษาแล้ว ว่าแล้วก็พาซินแสเข้าบ้านไปรักษาแม่ปรากฏว่า ซินแสที่พามาเมื่อเห็นมารดาผู้ป่วย จับชีพจรแล้วก็ส่ายศีรษะว่า หมดหวัง ไม่มีทางรักษาแล้วก็ขอลาไป

ชายเศรษฐีแซ่อิ๋วโศกเศร้ากลุ้มใจ นั่งเอามือกุมหัวแล้วก็คิดได้ รีบเดินออกมาที่หน้าประตู พบจี้กงกำลังอร่อยอยู่กับอาหารที่คนในบ้านเอามาให้ เศรษฐี ไหว้จี้กงแล้วขอร้องให้เข้าไปช่วยตรวจอาการมารดา ภายในเวลาไม่กี่นาที จี้กงก็สามารถจัดการให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นจากโคม่าในชั่วเวลาเพียงครู่เดียว โดยที่เศรษฐีแซ่อิ๋ว ก็มองไม่ออกว่าจี้กงทำอะไรบ้าง แต่เขาก็ดีใจมากที่แม่หายป่วย แล้วก็สารภาพต่อว่า... เขามีลูกชายที่กำลัง
ป่วยมากเช่นกัน อยากจะขอให้จี้กงช่วยดูแลและตรวจรักษาจี้กงดูอาการลูกชายแล้วส่ายหัว ปากบอกว่า คนนี้รักษายากเพราะเป็นมากอาการอย่างนี้ต้องให้ดื่มน้ำตาของคน 2 คน ที่เกิดในวันเดือนปีเกิดนี้ ว่าแล้วจี้กงก็บอก ไป มันคือวันเกิดของต๋งซิหงและลูกสาวเศรษฐีอิ๋วส่งคนไปหาเจ้าของวันเกิดทันที การหาตัวต๋งซิหงนั้นไม่ยากเพราะจี้กงบอกให้ว่า ชายนี้คือใครนั่งรออยู่ที่ไหน ส่วนลูกสาวต๋งซิหงก็ยิ่งไม่ยากใหญ่ เพราะนางยืนอยู่ตรงนั้น นางยกมือบอกว่านางเกิด วันนี้ตามวันเดือนปีที่จี้กงบอก เมื่อต๋งซิหงถูกพามาที่ห้องคนเจ็บ เขาคาดไม่ถึงว่าจะได้พบลูกสาว ลูกสาวก็คิดไม่ถึงเช่นกันว่าจะได้พบพ่อ ทั้งสองโผ เข้าหากันพร้อมด้วยน้ำตาแห่งความปีติยินดี ที่ไหลอาบแก้มทั้งสอง จี้กงรีบหยิบยาขวดหนึ่งออกจากกระเป๋า เอาขวดรองน้ำตาแห่งความยินดีของสองพ่อลูก แล้วกรอกยาใส่ปากคนเจ็บ

อัศจรรย์นัก...คนเจ็บรู้สึกตัวในชั่วไม่นาน.......นิทานเรื่องนี้จึงจบแฮปปี้แบบดับเบิ้ล แฮปปี้ ครอบครัวเศรษฐีอิ๋วก็แฮปปี้ ครอบ-ครัวต๋งซิหงก็แฮปปี้ ต๋งซิหงได้ตัวลูกสาวกลับไปอยู่ด้วยแม้จะไม่มีเงินมาไถ่ตัว แต่เศรษฐีอิ๋วยินดียกหนี้ให้เพื่อตอบแทนคุณ

นี่คือตัวอย่างตำนานหนึ่ง การช่วยเหลือคนอย่างมีอภินิหารของจี้กงพระเพี้ยนหรือเจ้าแปลกๆ ที่ใครๆ ก็จำได้ติดตาเมื่อเห็นภาพหรือรูปปั้นของเจ้าจี้กง

ขอบคุณข้อมูลจาก: http://onknow.blogspot.com/2004/08/blog-post_7581.html


ความเชื่อและโลกทัศน์ของคนในแต่ละสังคมวัฒนธรรมย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาศาตร์ และพัฒนาการทางสังคมเฉพาะตน สำหรับชาวจีนแล้วความสุขสมบูรณ์ในชีวิตที่ยังเวียนว่ายในโลกโลกียะนั้นประกอบด้วยสามประการ คือ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความเจริญก้าวหน้า และความมีสุขภาพดีและมีอายุมั่นขวัญยืน ซึ่งจะปราฎกอยู่ในรูปสัญลักษณ์แทนคำอวยพร ทำให้ผู้เห็นรูปสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ตระหนักถึงคำอวยพรดังกล่าวซึ่งเป็นสิริมงคลในชีวิตของชาวจีน สัญลักษณ์ดังกล่าวก็คือ "ฮก ลก ซิ่ว" นั้นเอง

ฮก เป็นรูปเจ้าหรือขุนนางสวมหมวก มีใบหูกางออกไป 2 ข้าง มีมือถือหยู่อี่ แสดงวาสนา
หมายถึง ความสุขที่ได้จากการสมปรารถนา ทั้งความร่ำรวยโดยโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ สัญลักษณ์ที่เป็นคน จะเป็นรูปเศรษฐีสวมหมวกเส้า มีผ้า
คลุมไหล่ (แสดงถึงโภคสมบัติ) และอุ้มเด็ก (แสดงถึงบริวารสมบัติ) สัญลักษณ์อื่นๆ ที่มีความหมาย "ฮก" เช่น กวางดาว ผลทับทิม ดอกเบญจมาศ ลายคลื่น เป็นต้น

ลก เป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเสาข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงโภคสมบัติ มือหนึ่งอุ้มเด็ก แสดงบริวารสมบัติ
หมายถึง ความเจริญรุ่งเรื่อง ความมีโชคลาภวาสนาด้วยบุญบารมี มีฐานะมั่นคงและการงานที่ก้าวหน้ามั่นคง สัญลักษณ์ที่เป็นคน จะเป็นขุนนางสวมหมวก ถือคทาหยู่อี่ในมือ ใบหูกวางแสดงถึงความมีบุญญาบารมีและวาสนา สัญลักษณ์อื่นๆ "ลก" เช่น ค้างคาว ดอกโบตั๋น หรือดอกพุดตาล ผลส้มมือ ลายกระจัง ลายคอเสื้อ เป็นต้น

ซิ่ว เป็นรูปชายแก่ ถือไม้เท้ามือหนึ่ง ถือผลท้อมือหนึ่ง แสดงความเป็นผู้มีอายุยืนและมั่นคง
หมายถึง การมีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง สัญลักษณ์ที่เป็นคน จะเป็นรูปชายชราหนวดยาง มือถือไม้เท้าห้อยผลน้ำเต้า และมือถือลูกท้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาวสัญลักษณ์อื่นๆ ที่มีความหมาย "ซิ่ว" เช่น นกกระเรียน กา ต้นสน ลูกท้อ ลายประแจจีน เป็นต้น
ในหนังสือจวงจื่อตอนเต้าจื๋อกล่าวไว้ว่า อายุของคนในวัยชรานั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง อายุยืนถึง 100 ปี เรียกว่า เจี่ยซิ่ว อายุถึง 80 ปี เรียกว่า จงซิ่ว และอายุถึง 60 ปี เรียกว่า เหี่ยซิ่ว

ตำนาน ฮก ลก ซิ่ว

ฮก (แปลว่า โชคดี) ท่าน "เจี่ยวช้ง" เป็นพ่อค้า มหาเศรษฐี ในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ร่ำรวยจากการค้าขายที่สุจริต และ คนในครอบครัว ลูกหลาน ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด มีเรื่องเล่าขานกันว่า บ้านพักของท่านเจี่ยวช้งนั้น ห่างจากพระราชวังถึง 20 ลี้ เพียงท่านก้าวพ้นจากเขตที่ดินของท่าน ก็เป็นเขตพระราชวัง ด้วยความที่ท่านมีทรัพย์สมบัติมาก กอปรกับท่านเป็นใจบุญ ให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่ทุกข์ยาก จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน และสร้างคุณความดีต่อแผ่นดินอย่างใหญ่หลวง จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากฮ่องเต้ในสมัยนั้น

ลก (ยศถาบรรดาศักดิ์) ท่าน "ก๋วยจื่องี้" เป็นข้าราชการระดับอัครเสนาบดี (ข้าราชการระดับสูง) ที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์ ยุติธรรม รับใช้ราชการนานหลายแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อแผ่นดินนั้น เป็นที่ประจักษ์ต่อ ฮ่องเต้หลายพระองค์ จึงมีราชการโองการ ให้อยู่ในตำแหน่งตลอดทั้ง 4 แผ่นดิน และได้รับมอบ ดาบหยก และ เข็มขัดหยก ให้สามารถทำการใดๆ แทนฮ่องเต้ก่อน แล้ว ค่อยทูลถวายภายหลังได้ ท่าน ก๋วยจื่องี้ เป็นข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่ง นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ซิ่ว (อายุยืน) ท่าน "แผ่โจ้ว" เป็นบุคคลที่กลัวความแก่ และความตายมากที่สุด จึงรักษาสุขภาพ ร่างกาย และ จิตใจของตนเองให้มีความสุข แข็งแรง ตลอดเวลา ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวใหญ่ มีภรรยา และ ลูกหลานมากมาย และเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านแผ่โจ้วนั้นมีอายุยืนกว่า 800 ปี มีภรรยาเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 49 คน และ บุตรหลานเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 154 คน

ดังนั้น คนจีนจึงนิยม ให้ ฮก ลก ซิ่ว ให้เป็นของขวัญเหมือนเป็นคำอวยพร จึงกลายเป็นวัตถุมงคลที่คน ชอบ และ มีความหมายที่ลึกซึ้ง ดังนั้น คนที่มีฐานะดีก็จะหามาไว้ครอบครอง คนที่มีฐานะยากจนก็อยากจะมีไว้ครอบครอง ด้วยหวังว่าจะดลบันดาลความร่ำรวยมาให้กับตนได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.wlc2china.com , www.fengshui168.net , www.csd.go.th

 

5. จางเทียนซือ

จางเต้าหลิง (张道陵) หรือ จางหลิง (张陵) หรือ จางฟูฮั่น (张辅汉) ซึ่งในลัทธิเต๋าจะเรียกท่านว่า จางเทียนซือ (張天師) ท่านเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋านิกายเจิ้งอี (正一派) ในสมัยฮั่น (西漢 – ยุคสมัยฮั่นคือ ประมาณ 206 ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 220)

ได้มีการบันทึกในลัทธิเต๋าว่า ท่านเป็นลูกหลานรุ่นที่ 9 ของท่านจางเหลียง (張良) ซึ่งเป็นเสนาธิการของ เล่าปัง ผู้ก่อตั้งราชวงค์ฮั่น (หาอ่านเรื่องเล่าปัง และจางเหลียงได้ ในพงศาวดารจีนไซฮั่น)

จางเทียนซือ เกิดวันที่ 15 เดือน 1 ปี ค.ศ. 34 (正月十五日 - ตรงกับปีพุทธศักราชที่ 577 และตรงกับยุคของอาณาจักรโรมันครับ) แต่บางตำราก็บอกว่า ท่านเกิดในวันที่ 18 เดือน 5 ปีเดียวกัน

ในวัยเด็ก ท่านถือได้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะเลยก็ว่าได้ เพราะท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ อ่านตำรับตำราจากบัณฑิตต่างๆจนแตกฉาน ว่ากันว่าตอนท่านอายุเพียง 7 ขวบ ก็สามารถท่องและจดจำ คัมภีร์เต้าเต๋อจิง (老子道德經) ของท่านศาสดาเล่าจื้อ ได้ครบถ้วน ใครเคยอ่านเต้าเต๋อจิง จะเห็นว่ามันลึกซึ้งและยากที่จะจดจำมากๆ

นอกจากนี้ ท่านยังศึกษาวิชาดาราศาสตร์, วิชาแพทย์, วิชาว่าด้วยเรื่องปรากฎการของธรรมชาติ และอื่นๆอีกด้วย ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดท่านในการก่อตั้งลัทธิเต๋า ในเวลาต่อมา

ขณะ ที่ท่านอายุได้ 25 ปี ท่านได้สอบเข้ารับราชการ ในตำแหน่งผู้พิพากษา ในพื้นที่ฉงชิ่ง (重慶 - ปัจจุบันเป็นเทศบาล นคร ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีพื้นที่ติดกับมณฑลหูเป่ย์ หูหนัน กุ้ยโจว ซื่อชวนและฉ่านซี ภายในตัวเมืองมีแม่น้ำไหลพาดผ่านหลายสายเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 8 ของจีน มีเนื้อที่ 82,300 ก.ม. มีประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2548 31,442,300 คน)

เมื่อท่านได้รับราชการมาในระยะเวลาหนึ่ง ท่านได้เบื่อหน่ายทางโลก และลาออกจากชีวิตข้าราชการ โดยท่านหันมาศึกษา เรื่องทางจิตวิญญาณ อย่างจริงๆ จังๆ

ปี ค.ศ. 89 – ค.ศ. 105 (ช่วงอายุ 55 – 71 ปี) ท่านพร้อมลูกศิษย์มากมาย ได้เดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศจีน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ (ซึ่งเป็นหลักคำสอนของเต๋า) และพบปะผู้คนเพื่อหาประสบการณ์

ในช่วงที่ท่านเดินทางท่องเที่ยวกับ ลูกศิษย์นั้น เมื่อมาถึงมณฑลเจียงซี (江西省 - ปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เฉียงใต้ของประเทศจีน บนชายฝั่งตอนใต้ของลุ่มน้ำแยงซีเกียง ตอนล่าง โดยด้านตะวันออกติดกับมณฑลเจ้อเจียง และฝูเจี้ยน ด้านใต้ติดกับกว่างตง ด้านตะวันตกติดกับหูหนัน ด้านเหนือติดกับหูเป่ย และอันฮุย มีเมืองหลวงชื่อ หนันชาง มีเนื้อที่ 166,900 ก.ม. มีประชากร 42,840,000 คน) ท่านได้ตัดสินใจตั้งสำนักของท่าน ณ ภูเขาหลงหู่ (龍虎山 - ภูเขา มังกรพยัคฆ์ ปัจจุบันทางการจีนเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม รวมไปถึงถ้ำ และวัดเต๋ามากมาย ที่ภูเขานี้มีรีสอร์ทด้วย สามารถนั่งรถไปได้จากเมืองอิงถาน) และเริ่มศึกษาปรุงกลั่นยาอายุวัฒนะ และตัวยาอื่นๆ เป็นต้นมา และว่ากันว่าท่านสามารถปรุงกลั่นยาอายุวัฒนะ (長生藥) ได้สำเร็จเมื่อขณะที่ท่านอายุได้ 60 ปี

ในปี ค.ศ. 142 ท่านไท่ซ่างเล่าจวิ้น (太上道祖 - ศาสดาศาสนาเต๋า) ได้ปรากฎกายขึ้นในสำนักของจางเทียนซือ เพื่อที่จะถ่ายทอดคำสอนของศาสนาเต๋าให้แก่ท่าน ตั้งแต่นั้นมาท่านจางเทียนซือ ก็เริ่มเปิดโรงเรียนสอนศาสนาเต๋าของท่านขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อท่าน จางเทียนซือมีอายุได้ 90 ปี ได้เกิดมีโรคระบาดขึ้น ณ มณฑลเสฉวน (四川省) ท่านและลูกศิษย์ได้ช่วยกันรักษาชาวบ้านจากโรคระบาด แต่เนื่องจากชาวบ้านแถบนั้น เป็นคนยากจน ท่านก็ไม่ได้เรียกร้องเงินทองแต่อย่างใด เพียงแต่นำข้าวสารจำนวน 5 โต่ว (หน่วยตวงชั่งของจีน) มาเพื่อรับการรักษาก็พอ ตั้งแต่นั้นมา สำนักของท่านก็ได้รับการเรียกว่า “สำนักข้าวสารห้าโต่ว” (五斗米教 - wǔ dǒu mǐ jiào)

ในปี ค.ศ. 159 (ก่อนยุคสามก๊ก 61 ปี) ท่านจางเทียนซือได้มอบตำแหน่งเจ้าสำนักข้าวสารห้าโต่ว ให้แก่บุตรชายคนโต ชื่อว่า จางเหิง (張衡) สืบทอดต่อ ส่วนตัวท่านและภรรยาได้สำเร็จเป็นเซียนเต๋า (得道) โดยเชื่อกันว่าขณะนั้น ท่านมีอายุได้ 123 ปีเลยทีเดียว

ตั้งแต่นั้นสำนักเต๋าของท่านก็ได้ เผยแผ่ ลัทธิเต๋าตลอดมา (ปัจจุบันเรียกนิกายของท่านว่า เต๋านิกายเจิ้งอี - 正一派) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นรุ่นที่ 64 ซึ่งเจ้าลัทธิมีชื่อว่า ท่านจางหยวนเซียน (張源先天師) ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศไต้หวัน และทุกๆปี จะมีผู้ที่นับถือศาสนาเต๋า นิกายเจิ้งอีจำนวนมาก แวะเวียนไปเคารพท่านอยู่เสมอ


ขอบคุณข้อมูลจาก: http://cyberjoob.multiply.com/journal/item/56

6. ตั่วเหล่าเอี๊ย ท่านเหิ่ยงเทียนเสี่ยงตี่ ยุคเขียว


บรรพกาลล่วงมาแล้ว เมืองลกฮง กึงตัง ประเทศจีน ยังมีมานพหนุ่มรูปร่างกำยำใหญ่ผู้หนึ่ง ประกอบอาชีพเป็นคนฆ่าหมูและวัวเพื่อส่งไปยังตลาดจำหน่าย คืนหนึ่งเกิดนิมิตฝันเห็นนักพรตแต่งตัวแบบนักบวชเต๋ามาหา และบอกให้เขาวางมือจากการฆ่าสัตว์ได้แล้ว ว่ามานพมิได้เกิดมาเพื่อการนี้ แต่ท่านเกิดมาเพื่อสร้างบารมี ควรหันมาบำเพ็ญธรรมแล้วจะสำเร็จ เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา มานพหนุ่มประหลาดใจในนิมิตฝันนั้น จึงปรึกษาหารือกับมารดา เพราะเขาเป็นบุตรกำพร้า บิดาเสียแต่เขายังเยาว์วัย มีเพียงมารดาที่เลี้ยงดูอบรมเขามา มารดาปรกติเป็นคนใจบุญ จิตใจมีเมตตา จึงเห็นด้วยกับความฝันของผู้เป็นบุตร ทั้งสองจึงตกลงยุติการฆ่าสัตว์ขายอันเป็นอาชีพของมานพหนุ่ม เมื่อตั้งใจบำเพ็ญปฏิบัติธรรมไปได้ 3-4 วัน นักพรตที่นิมิตฝันก็มาปรากฏกายที่หน้าบ้าน ถามมานพหนุ่มว่า เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะบำเพ็ญพรตให้สำเร็จหรือยัง มานพหนุ่มตอบตกลงทันที และจัดการทรัพย์สินรวบรวมเป็นเงินก้อนหนึ่งไว้เลี้ยงดูมารดาผู้ชรา แล้วเก็บข้าวของออกเดินทางตามนักพรตขึ้นเขาไปบำเพ็ญพรต ด้วยความมานะ ตั้งใจหมั่นปฏิบัติบำเพ็ญ แต่การปฏิบัติก็ไม่มีความก้าว หน้าประสพผลแต่อย่างไร ศิษย์ที่มาใหม่ต่างสำเร็จไปก่อนเขา ทำให้มานพหนุ่มรู้สึกเสียใจ ท้อใจ วันหนึ่งจึงถามท่านนักพรตผู้อาจารย์ว่า เขาจะมีวันสำเร็จธรรมไหม ท่านอาจารย์ตอบแก่เขาว่า ตราบใดที่ภายในของเขา ยังสีดำอยู่ ก็อย่าถามถึงความสำเร็จเลย พอกลับไปถึงห้องพัก มานพหนุ่ม ครุ่นคิดอย่างหนัก อีกทั้งเสียใจ ข้องใจในคำพูดของอาจารย์ว่า ภายในของเขา สีดำ นั้นหมายความว่าอย่างไร เพราะเขามีความตั้งใจมั่นมาบำเพ็ญธรรม ก็เพื่อ ความสำเร็จ ถ้าภายในคืออุปสรรค เขาก็ยินดีพลีชีพเพื่อบูชาธรรมที่หวังจะ สำเร็จนั้น ๆ คิดได้ดังนั้น เขาก็คว้ามีดขึ้นมาคว้านท้อง ลากไส้และกระเพาะออกมา พอเครื่องในเหล่านั้นหลุดพ้นจากร่าง เขาก็รู้สึกตัวเบา และบรรลุธรรมทันที เนื่องเพราะอาชีพที่ฆ่าสัตว์มามาก และมานพหนุ่มเอาชีวิตตนแลกธรรม เพื่อทดแทนบาปเคราะห์กรรม ที่มาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญได้สำเร็จ อาจารย์นักพรตทราบความ เร่งรุดมาที่ห้องพักมานพหนุ่ม เข้าช่วยเหลือรักษา พยาบาลจนมานพหนุ่มเป็นปรกติ โดยท้องมานพหนุ่มปราศจากลำไส้ และ กระเพาะ แต่มิเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เพราะฌานสมาบัติแห่งธรรม หล่อเลี้ยงรักษาให้เป็นอยู่ เมื่อสำเร็จธรรม นักพรตเห็นสมควรที่ท่านจะลงจากเขาไปโปรดผู้คน ก่อนจากกันท่านอาจารย์ได้ มอบธงให้มานพหนุ่มผืนหนึ่ง เป็นสีขาว มานพจัดเตรียมสัมภาระลงเขาโดยเอากระเพาะและลำไส้ ของเขา ที่ตากแห้ง เก็บไว้นำติดตัวลงมาด้วย ครั้นเดินทางถึงตีนเขา ได้ยินเสียงร้องอย่างเจ็บปวด ของหญิงสาวจึงเข้าไปดู พบหญิงท้องแก่กำลังจะคลอดบุตร มานพหนุ่มบอกแก่หญิงคนนั้นว่า ท่านเป็นผู้ชาย และเป็นนักบวช มิใช่หน้าที่ ที่จะช่วยการคลอดได้ ได้แต่มอบธงผืนที่อาจารย์มอบให้แก่หญิงคนนั้น เพื่อรองรับเด็กทารก หญิงคนนั้นคลอดบุตรออกมาอย่างปลอดภัย เมื่อตัดสายสะดือเช็ดคราบเลือดแล้ว ยกทารกน้อยอุ้มขึ้นในอ้อมกอด หญิงคนนั้นได้ขอบใจท่านมานพหนุ่ม และส่งคืนธงที่เปื้อนเลือดคืนแก่ท่าน มานพหนุ่มจึงนำธงไปล้างที่ชายคลอง พอธงจุ่มลงน้ำ น้ำในคลองพลันเปลี่ยนเป็นสีดำทันที รวมทั้งธงของเขาก็กลายเป็นสีดำด้วย โดยไม่ได้ระวัง ระหว่างที่ล้าง กระเพาะและลำไส้ที่เก็บไว้ชายพก ตกลงไปในน้ำ เขาก็คิดว่าดีเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นภาระเก็บรักษาอีกต่อไป มานพหนุ่มลงเขาโปรดผู้คนอยู่ จวบจนสิ้นวาระขัยจากมนุษย์โลก ไปเสวยทิพย์สมบัติ องค์เง็กเซียนฮ่องเต้จ้าวแห่งสวรรค์ โปรดประทานยศให้เป็น ผู้ตรวจการภพสาม ตำแหน่ง “เหิ่ยงเทียนเสี่ยงตี่” ผู้พิชิตมาร โดยมีธงเทพโองการดำเป็นอาญาสิทธิ์ ธงสีดำเป็นสัญลักษณ์ของท่าน เป็นธงบัญชาการของเจ้า หรือเทพพรหม มีลัญจกรอยู่ในธง อาญาสิทธิ์เฉียบขาด มีแม่ทัพทั้ง 5 เป็นบริวาร กล่าวถึงกระเพาะและลำไส้ที่ตกลงไปในน้ำ เกิดสัตว์ประหลาดสองตัว สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน และได้ทำลายพืชพรรณ กินสัตว์เลี้ยงของ ชาวบ้าน ชาวบ้านบวงสรวงเซ่นไหว้ เหล่าเทพเจ้าขอความคุ้มครองปกปักรักษา เทพผู้พิทักษ์จึงรายงานขึ้นทูลเง็กเซียนฮ่องเต้ เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมีพระบัญชาให้ ผู้พิชิตมาร เหิ่ยงเทียนเสี่ยงตี่ ลงมาปราบสัตว์ประหลาดทั้งสอง พอพบสัตว์ประหลาดทั้งสอง จึงทราบว่าเป็นกระเพาะและลำไส้ของตนที่ปีศาจร้ายเข้าไปสิงสถิตอยู่นั่นเอง กระเพาะกลายเป็นเต่า และลำไส้กลายเป็นงู ท่านจึงกระโดดลงยืน เท้าข้างหนึ่งเหยียบเต่า และเท้าอีกข้างเหยียบงูไว้ สยบสัตว์ปีศาจร้ายทั้งสองจนหมดฤทธิ์ ชาวบ้านเลื่อมใส ศรัทธา จึงจัดสร้างศาลเจ้าและรูปปั้นท่านขึ้นบูชา สัญญลักษณ์ของท่านจึงกลาย เป็นเท้าเหยียบเต่าเหยียบงู และ ธงของท่านเป็นสีดำ ต่ำแหน่งตั่วเหล่าเอี๊ย “ปักเก็กจิงบู้เหิ่ยงเทียนเสี่ยงตี่” โดยมีเสือเป็นบริวารพาหนะ ที่ผู้คนกราบไหว้นับถือมาจนถึงทุกวันนี้ หน้าที่ผู้พิชิตมาร ดูแล ปกป้อง สืบสาน ศาสนจักร อาณาจักร ให้ดำรงมั่น

ขอบคุณข้อมูลจาก: http://skycick.blogspot.com/2009/06/3-4-xxx-5-xxx-xxx.html


7. เทวเทพอริยะวิสุทธิกุ๋ยกู่

เทวเทพอริยะวิสุทธิกุ๋ยกู่...ท่านเป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้าและมรรคาเต๋า เป็นผู้หนึ่งที่ผันวิถีออกบวชเป็นโยคีและรู้แจ้งมรรคาแห่งพุทธะและเต๋าสำเร็จเป็นอริยะเซียนออกโปรดสัตว์ ทิพยภาวะของท่านอยู่พรหมชั้น 11 และยามา คอยดูแลพระพุทธศาสนา 5000 ปี ท่านยังเป็นผู้ประยุกต์เทพเซียนกับพุทธลึกล้ำไร้ประมาณ
เชื่ิอว่าท่านอายุยืนตั้งแต่สมั
ยโจวถึงสามก๊ก อีกทั้งท่านยังเปลี่ยนร่างไร้วิถี คล้ายพระเทพโลกอุดรเป็
นอาจารย์ของขงเบ้งอีกด้วย

โศลกคาถาบูชาท่านกุ๋ยกู่
มังกรธรณีฟังข้า
โยกดาวเคลื่อนดารา
ใต้พสุธามีขุมทรัพย์
ฤดูกาลผันแปรสมดุล
ใจอิสระชะตามิอาจล่วง
สรรพปวงจงสำเร็จ ศักดิ์สิทธิ์

 

Powered by MakeWebEasy.com