การใช้ไหว้วานผู้ทรงธรรม..ระวังจะได้รับบาปหนัก

Last updated: 22 มิ.ย. 2554  |  7368 จำนวนผู้เข้าชม  | 


การใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" ระวังจะได้รับบาปหนัก !


ต้องบอกกันตรงๆ เลยนะครับว่าหัวข้อที่ตั้งขึ้นมาคราวนี้...." การใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" ระวังจะได้รับบาปหนัก ! " ผมเองก็เพิ่งจะรู้เหมือนกัน..เป็นเพราะได้รับความรู้จากอาจารย์ ด็อคเตอร์ สนอง วรอุไร นักบุญแห่งล้านนาและประเทศไทย ได้กรุณาบอกเล่าให้ฟัง  ผมได้รับความรู้จากอาจารย์ท่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากมาย จึงอยากจะเอามาบอกเล่าให้เพื่อนๆ สหธรรมมิก ทั้งหลายได้รับความรู้อย่างเช่นที่ผมได้รับบ้าง จะได้ไม่พลั้งเผลอไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร และจะได้ไม่ต้องชดใช้ "กรรม" ที่ไม่น่าจะได้รับ เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ.

การที่เราไหว้วานใครสักคนหนึ่งนั้น โดยธรรมเนียมไทยๆ ของเราแล้วเรามักจะไม่ใช้ไหว้วานผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเรา ใช่มั้ยครับ ? เพราะเป็นการไม่สมควรและผิดมรรยาทอันดีงามของคนไทยทีนี้ เรื่องของ "ผู้ทรงธรรม" หรือผู้ที่มีวาระจิตอันสูงส่ง ซึ่งอาจจะหมายถึงผู้ที่มีศีล มีธรรม หรือผู้ที่ "ปฏิบัติ"

(สมาธิ วิปัสสนา กรรมฐาน) เป็นนิจสินเราไม่สามารถจะรู้ได้อย่างมั่นใจ 100 % ว่าใครเป็น "ผู้ทรงธรรม"เพราะ "ผู้ทรงธรรม" นั้น ไม่มีการยกยอตัวเองหรือโฆษณาตัวเองว่าได้ธรรมขั้นนั้นขั้นนี้หรือปฏิบัติได้อย่างนั้นอย่างนี้ มองไม่รู้...ดูไม่ออก...(หมายถึงถ้าไม่พิจารณากันอย่างถ่องแท้) บางคนซ่อนความเป็น "ผู้ทรงธรรม" ไว้ใต้เสื้อผ้าที่ธรรมดาใต้หน้าตาที่เป็นปรกติ "ผู้ทรงธรรม" วัดไม่ได้จากเสื้อผ้า หน้าตา คำพูด ฐานะ เฟอร์นิเจอร์ประดับร่างกายแต่วัดได้จากการกระทำ เช่น ไม่ ทำบาปทำชั่วด้วยประการทั้งปวง ไม่ทำร้ายหรือทำให้ใครเดือดร้อน สอนสั่งให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควร พูดแต่ในสิ่งที่เป็นมงคลและเป็นประโยชน์ ฯลฯ แต่ที่ผมสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ...แววตา.... ไม่ว่าบุคคลิกหรืออะไรก็ตามจะแสดงออกมาในทางตรงกันข้าม  เช่น ทำเป็นหน้าตาดุ ทำเป็นพูดไม่เพราะ แต่ที่ซ่อนไม่ได้...ก็คือ "แววตา"

อย่างที่คนเรามักจะพูดกันว่า "ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ" คนที่เป็น ""ผู้ทรงธรรม" นั้น ผมสังเกตมาหลายท่านแล้วว่าส่วนใหญ่จะมีแววตาที่ "เป็นประกาย" เหมือนแววตาของเด็กๆ......แบบใสซื่อ....อะไรประมาณนี้แหละครับ

ผมเคยได้ใกล้ชิดหลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรี สิงห์บุรี ในช่วงเวลาสั้นๆสังเกตเห็น "แววตา" ของหลวงปู่ท่าน..ใสจริงๆ ใสแบบบริสุทธิ์เลยนะครับ ทั้งๆ ที่หลวงปู่ท่านอายุ (ตอนนั้น) 97 ปีแล้ว คนธรรมดาน่ะครับ 50 ก็ตาฝ้าตาฝางแล้วแล้วอีกอย่างนึง ไม่มีใครซ่อนอารมณ์และความรู้สึกจาก "แววตา" ได้อย่างแน่นอนคนที่โกรธแต่หน้ายิ้ม มีหลายคนแต่แววตาโกรธนั้นฉายเห็นเด่นชัด

เพราะฉะนั้นการสังเกต "ผู้ทรงธรรม" นอกจาก "การกระทำ" อย่างที่บอกแล้ว...ผมก็จะสังเกตจาก "ดวงตา" และ "แววตา" ด้วย

(ยังไม่เห็นมีใครสามารถซ่อนอารมณ์และความรู้สึกจาก "ดวงตา" และ "แววตา" ได้เลยครับ...เท่าที่ผมรู้จักใครต่อใครมานะครับ)

เมื่อ ""ผู้ทรงธรรม" เป็นผู้ที่สมควรแก่การยกย่องเราจึงไม่ควรไป "ใช้" หรือ "ไหว้วาน" เพราะถือว่า "ผู้ทรงธรรม" เป็นผู้ใหญ่ (หมายถึงไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ด้านอายุ....แต่เป็นผู้ใหญ่ในทางความรู้ การปฏิบัติ มากกว่า) เราเป็น "ผู้ที่ด้อยกว่า" จึงไม่ควรไปใช้ผู้ใหญ่...ในความหมายของ "ผู้ทรงธรรม" นี่เราพูดกันถึงวัฒนธรรมของไทยๆ เรานี่น่ะครับ....คงเข้าใจแต่ถ้าเราศึกษา "ธรรม" กันพอสมควร จะเห็นได้ว่า เราเคารพกันที่ "การปฏิบัติ" มากกว่าอายุพระที่บวชวันแรกต้องไหว้พระที่บวชมาก่อนหน้านั้น...แม้จะมากกว่า แค่วันเดียวทั้งๆ ที่พระที่บวชวันแรกอายุเป็นพ่อเป็นปู่ และพระที่บวชมาก่อน..อายุเป็นลูกเป็นหลานก็ตาม (อันนี้นอกประเด็นกับเรื่องของ "จิต" ที่สูงหรือต่ำกว่านะครับ ละเอียดเกินไป...ยังไม่ขอพูดถึงนะครับ) เพราะฉะนั้นการที่ไปใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" จึงเป็นการไม่สมควรเพราะ "ผู้ทรงธรรม" สูงกว่าเรา (ในด้าน "จิต" และ "การปฏิบัติ")

การใช้ไหว้วานนั้น...ไม่บอกก็คงนึกไม่ถึงแน่นอนครับเช่น....... "ขอฝากเงิน...ไปร่วมทำบุญด้วยนะครับ" "ช่วยโทรบอกหลวงพ่อรูปนั้นด้วยนะคะว่า อาทิตย์หน้าจะไปที่วัด" "คราวหน้าถ้าลงมา ช่วยเอาของมาให้ด้วยนะครับ" ฯลฯ  เห็นมั้ยครับว่า..บางครั้งบางคราว เป็นเรื่องที่ดี..เป็นเรื่องงานบุญงานกุศล ไม่น่าจะ "ผิด" อะไร แต่ความจริง "ไม่สมควร" ครับ เพราะถือว่าเป็นการใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" ผมให้ข้อคิดว่า....ไม่ว่าอะไรที่ไหว้วานท่านให้ไปทำต่อให้ไปทำตามที่เราบอก....ถือว่าเป็นการใช้ไหว้วานทั้งนั้น "กรรม" ที่จะต้องรับกับการที่ใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" นั้น......เป็นอย่างนี้ครับเคยเห็นกันมั้ยครับ..คนที่เกิดมามีชาติ มีตระกูล...มีฐานะดี..เป็นคนดี..เป็นคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่....ต้องเดินตาม พระฆราวาส หรือ "ผู้ทรงธรรม" ทั้งๆ ที่โดยฐานะแล้ว คนที่บอกมาทั้งหมดนั้น..ไม่จำเป็นต้องมาเดินตามต้อยๆ นี่แหละครับ "กรรม" ที่ต้องรับ

(อันนี้ต้องแยกแยะว่า...บางครั้งอาจจะไม่เกี่ยวกับการเคารพศรัทธานับถือ "ผู้ทรงธรรม" เป็นการส่วนตัวนะครับ) ผมกำลังจะบอกว่า "กรรม" ที่ต้องรับจากการที่ใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" นั้น ก็คือ.....ต้อง เป็นข้าทาส บริวาร หรือหนักหน่อยก็เป็นข้ารับใช้..ไม่ว่าจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราว...หรือเป็นถาวร (ขึ้นอยู่กับวาระกรรมที่ได้กระทำ) ความจริงถ้าคิดในแง่ดีก็อาจจะบอกว่า ดีซะอีกที่ได้เป็นคนคอยรับใช้..."ผู้ทรงธรรม" ถ้าคิดอย่างนี้..ก็ไม่เป็นไร ครับ....จะได้สบายใจ

แต่จุดมุ่งหมายของการบอกเล่าในครั้งนี้...ก็คือ...ไม่อยากให้ใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" เพราะเป็นการไม่สมควรแต่......ถ้ามันจำเป็นล่ะ...

แน่ละครับ....เราต้องมีข้ออ้าง....ตามประสา...ตามประสา....ตามประสาอะไรดีล่ะ....เอาเป็นว่าตามประสาคนที่จะมีข้ออ้างก็แล้วกันวิธีแก้ไขที่ดีที่ท่านอาจารย์สนอง ท่านได้แนะไว้ก็คือ "ขอขมา" คือขอขมา "ผู้ทรงธรรม" เสียง่ายๆ อย่างนี้นะครับเวลาที่จะไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" เมื่อได้บอกธุระที่เราไหว้วานท่านแล้ว...กราบขอขมาท่านว่า "ขอขมาท่านด้วยนะครับ (คะ) ที่ได้ล่วงเกินใช้ไหว้วานท่าน" แค่นี่เองครับ....แล้ว "ผู้ทรงธรรม" ท่านก็จะบอกว่า "ไม่เป็นไร ไม่มีเวรกรรมต่อกัน" หรืออาจจะแนวๆ นี้ (บางท่านอาจจะนึกในใจก็ได้) แค่นี้เองจริงๆ ครับ...จะได้ไม่ต้องไปเป็น "ข้ารับใช้" ในอนาคต

หลังจากผมได้ฟัง "ธรรม" ข้อนี้จากอาจารย์สนอง ผมก็เลยได้ยินหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ท่านเปรยๆว่า เวลาท่าน "ปฏิบัติ" เสร็จแล้ว...ต้องทำการ "อโหสิ" ญาติโยมที่เผลอไหว้วานท่านเสียทุกครั้งเขียนๆ ไปแล้ว...ไม่แน่ใจว่า....จะเป็นประโยชน์แค่ไหน แต่เมื่อเห็นว่าอะไรไม่ถูกไม่ควรก็เอามาบอกเล่ากันน่ะครับ

ถ้าข้อเขียนวันนี้มีประโยชน์ แม้จะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ขอยกอานิสงส์ความดีแด่ อาจารย์สนอง วรอุไร "ผู้ทรงธรรม" แห่งล้านนา และประเทศไทย ส่วนที่เขียนแล้ววกวน...หรือผิดพลาดตรงไหน...ข้าพเจ้าที่อยากเป็น "ผู้ทรงธรรม" (กำลังพยายามอยู่ครับแต่คงอีกนานเหมือนกัน)...ขอรับไว้เพียงแต่ผู้เดียว ครับ...จริงๆ ครับ

 

เมื่อเขียนเรื่องการใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" แล้ว ก็เลยอยากจะเขียนถึงเรื่อง "การล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" ด้วยการใช้ไหว้วาน "ผู้ทรงธรรม" นั้น ก็เป็นสิ่งไม่อยู่แล้ว แต่การล่วงเกิน "ผู้ทรงธรรม" หรือ "ผู้มีธรรม" นั้นหนักกว่า บาปมากกว่า เพราะเป็นการล่วงเกิน เป็นการทำร้าย "ผู้ทรงธรรม" ไม่ว่าจะเป็นทั้งกายหรือใจ หรือจะด้วยเจตนาและไม่เจตนาก็ตาม เพราะ "ผู้มีธรรม" และ "ผู้ทรงธรรม" นั้น คล้ายกันในความหมาย ก็คือเป็นผู้ที่ยึดถือการกระทำความดี เป็นชีวิตจิตใจเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งและเป็น "คนดี" ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

    คำว่าเป็นคนดีนั้น หมายความว่า....

    1. ทำอะไรก็แล้วแต่.....มีประโยชน์ต่อตนเอง

    2. ทำอะไรก็แล้วแต่.....มีประโยชน์ต่อคนอื่น

    3. ทำอะไรก็แล้วแต่.....ไม่สร้างเดือดร้อนต่อตนเอง

    4. ทำอะไรก็แล้วแต่.....ไม่สร้างเดือดร้อนต่อคนอื่น

    ต้องทำให้ได้ครบ 4 ข้อ เราจึงเรียกว่า "ความดี"

 

   "ผู้มีธรรม"....ต้องทำ "ความดี" ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

   "ผู้มีธรรม" นั้นมีทั้งภิกษุ สงฆ์ ผู้ทรงศีล นักบวช และฆราวาสที่มี "จิต" ดี

   เราไม่มีโอกาสจะทราบได้อย่างแน่ชัด 100 เปอรเซ็นต์เลยว่า...ใครบ้างเป็น "ผู้มีธรรม" นอกจากการสังเกต และการสันนิษฐานของเราเองและผู้อื่น

    "ผู้มีธรรม" นั้น ตัวท่านเองก็ไม่สามารถจะพูดให้ใครฟังได้ว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพราะบางทีตัวของ "ผู้มีธรรม" นั้นเอง ก็ยังไม่ทราบตัวท่านเองเลยว่า ท่านเป็นอย่างไร ? เพราะความเป็น "ธรรม" นั้น มันเป็นเรื่องของ "จิตใจ" ที่เกิดขึ้นมาจากความเป็น "ธรรมชาติ" ไม่สามารถหาซื้อจากที่ใดได้  อาจจะติดมาจากอดีต แล้วมา "ปรุงแต่ง" เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในภาวะปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่าใครบ้างเป็น "ผู้มีธรรม" จงอย่าได้มีความประมาท เผลอไผลไปตำหนิติเตียนหรือทำร้ายท่านทั้งทางกายและใจ   ด้วยใจที่เป็นอกุศล หรือต้องการประชดประชัน ตีวัวกระทบคราด ใช้คำไม่สุภาพ หรือล่วงเกินในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้จริง

    ความปลอดภัย เมื่อเราไม่รู้ว่าจะไป "ล่วงเกิน" ใครบ้างที่เป็น "ผู้มีธรรม" ควรทำอย่างนี้ เวลาจะออกความเห็นใด หรือกล่าวถึงที่เป็นการกล่าวตรงข้ามกับความคิดเห็นหรือการกระทำของผู้อื่น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือหลับหลังใครก็ตาม ควรกล่าวถึงหรือเขียนด้วยความเป็นสุภาพชน ไม่ใช้ถ้อยคำกระแทกแดกดัน ประชดประชัน กล่าวส่อเสียด ดูหมิ่น เหยียดหยามหรือแสดงในสิ่งที่ไม่สมควรแสดงเพราะ "ผู้มีธรรม" ก็เป็นคนธรรมดา ย่อมมีความผิดพลาดได้เป็นของธรรมดา  เมื่อทำผิดพลาดก็ย่อมได้รับคำติเพื่อก่อ เพื่อสร้างสรรค์ เช่นคนอื่นได้เช่นกัน

    เคยหรือไม่ ? ที่ท่านเองเคยมีคนหมั่นไส้ท่านอย่างไม่รู้สาเหตุ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ?

    เคยหรือไม่ ? ที่ท่านเคยถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากคนอื่น บางครั้งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ?

    เคยหรือไม่ ? ที่ท่านมักจะมึนงงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่รู้ทางแก้ไข บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ

    เคยหรือไม่ ? ที่ท่านถูกกล่าวร้ายป้ายสีจากคนอื่น ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้ทำ บางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ

    เคยหรือไม่ ? ที่ท่านพูดอะไรไปแล้ว ไม่มีคนเชื่อถือ หรือพูดอะไรไปแล้วคนไม่เชื่อ

    เหล่านี้คือ "กรรม" ที่ได้กล่าวล่วงเกิน "ผู้มีธรรม"

    ตรงกันข้าม...ถ้าใครให้เกียรติ ให้ความเคารพ แม้ว่าจะติเพื่อก่อ หรือให้เหตุผลที่ตั้งบนความบริสุทธิ์ใจ "กรรม" ที่ได้รับก็คือ........

    ไปไหน ทำอะไร พูดกับใคร ไหว้วานใคร ร่วมงานบุญกับใคร เจอะเจอใคร ?ก็มีแต่คนรักใคร่ เป็นที่ชื่นชอบ เป็นที่รัก เป็นที่เคารพของหมู่ชนทั่วไป  ลองสังเกตคนใกล้ตัว ไกลตัว หรือคนที่คุณรู้จัก ...ที่เป็นที่รักที่เคารพของคนทั่วไป   ที่ไม่ใช่เพื่อนยกยอปอปั้นชื่นชมกันเอง (ประเภทเขียนเอง..ชมเอง หรือไหว้วานให้คนอื่นมาชมแทน) ว่าเป็นเช่นนี้หรือเปล่า ? ถ้าใช่ ก็แสดงว่าคนๆ นั้นให้ความเคารพ "ผู้มีธรรม" อย่างดี

    อาจารย์ผมคนหนึ่งชื่อ อาจารย์ วิสุทธิ์ ปัญจะ เวลาท่านจะแสดงความคิดเห็นใด ต่อผู้ที่คิดว่าน่าจะเป็น "ผู้มีธรรม" ท่านมักจะขึ้นต้นว่า "ขออนุญาต ขอสอบถามเพื่อศึกษา เพื่อเรียนรู้ ว่า......"  นั่นคือผู้ที่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร   แต่พวกเรา..ไม่ต้องขนาดนั้น ไม่ต้องนอบน้อมขนาดนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่า พูดคุย แสดงความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนความรู้ กล่าวถึง ด้วยความสุภาพอ่อนน้อมให้เกียรติคนอื่น ใช้กริยาวาจา (ข้อเขียน) ด้วยใจที่คิดว่ากำลังคุยกับเพื่อน ไม่ใช่คุยกับคนที่เกลียดขี้หน้ากัน

    การใช้วาจาตรงๆ ก็สามารถทำได้ เพราะการใช้วาจาพูดคุยกันตรงๆ   ก็สามารถใช้คำพูดหรือข้อเขียนที่อ่อนน้อม สุภาพ ได้ คนปากกับใจตรงกัน หรือคนที่พูดตรงๆ ต่างจาก "คนปากพล่อย" มากมายนักในที่นี้ผมเพียงจะพูดถึงเรื่องการล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" เพียงการพูด ทั้งการพูดต่อหน้าและลับหลัง การกล่าวถึงการตำหนิติเตียนด้วยความไม่ชอบ ยังไม่ได้พูดถึงการล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" ด้วยการกระทำ เพราะแค่ล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" ด้วยวาจา ด้วยการกล่าวถึง ยังต้องได้รับ "กรรม" ที่หนักหนาสาหัสแล้ว ถ้าล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" ด้วยการกระทำด้วยแล้ว จะยิ่งสาหัสสากรรจ์มาไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า

    ผมได้รับการสั่งสอนจากครูบาอาจารย์หลายท่าน ให้เป็นอย่างนี้ และได้ถูกสอนให้เห็นถึงการล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" อย่างชนิดที่ไม่ได้ถูกแค่สอนด้วยวาจาแต่ผมโดนสอนด้วยการถูกลงโทษจริงๆ  จึงรู้..จึงเข้าใจว่า...การได้รับ "กรรม" จากการล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" นั้น มันเจ็บปวดและทรมาน  จึงไม่อยากให้ท่านที่พลั้งเผลอไปกล่าวล่วงเกิน "ผู้มีธรรม" ได้รับกรรมเช่นนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่า ใครบ้างที่เป็น"ผู้มีธรรม" ก็จงอ่อนน้อมถ่อมตน ติเตียนด้วยความสุภาพ หรือแสดงความคิดเห็นด้วยใจที่ไม่มีอคติ... ทำอย่างนี้เอาไว้ก่อน...ปลอดภัยกว่ากันเยอะ

    ผม (อโณทัย) ไม่ใช่ "ผู้มีธรรม" เพราะยังมีอารมณ์ มีความโกรธ ไม่ได้เป็นคนดีทั้งต่อหน้าและลับหลังตลอด 24 ชั่วโมง หรือตลอดเวลา   และไม่ได้ทำความดีครบองค์ประกอบ 4ประการ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ...ก็ตามใจท่านผมมีหน้าที่แค่ "บอก"  "กรรม" ใดใครทำ คนนั้นเป็นคนรับครับ


Powered by MakeWebEasy.com